เชื้อราเมธาไรเซียม

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

เชื้อราเมธาไรเซียม

(Metarhizium anisopliae)

          เชื้อราเมธาไรเซียม  หรือเชื้อราเขียว เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กพบในดินทั่วไป เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืช เจริญเติบได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส และสร้างสปอร์ได้ใน 5-7 วัน เส้นใยเริ่มต้นมีสีขาว สร้างสปอร์รูปร่างรี สีเขียวขี้ม้า เชื้อราเมธาไรเซียมสามารถทําลายแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ทําลายได้ทั้งตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงหมัดผัก หนอนศัตรูพืช หนอนเจาะลําต้น หนอกกอ ปลวก หนอนทราย บั่ว ไร และเพลี้ยต่างๆ เช่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เป็นต้น

 

 

การควบคุมและทำลาย

          เชื้อราเมธาไรเซียม สามารถควบคุมและทำลายแมลงได้โดย เมื่อสปอร์เชื้อราเมธาไรเซียม ตกบนตัวแมลง เข้าสู่แมลงทางผิวหนัง หรือช่องว่างของลำตัวรวมทั้งจะสร้างเอนไซม์ไคติเนส (Chitinase) เพื่อช่วยย่อยผนังบางส่วนและงอกสปอร์แทงผ่านลำตัวเข้าไปเจริญ เพิ่มปริมาณทำให้แมลงเกิดโรค และตายในที่สุด แมลงที่ตายด้วยเชื้อราเมธาไรเซียม จะมีลักษณะลำตัวแข็งมีเชื้อราขึ้นปกคลุมลำตัวภายนอกเป็นสีเขียว ซึ่งระยะเวลาในการเข้าทำลายจะเร็วหรือช้า ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ได้แก่อุณหภูมิและ ความชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส และความชื้นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแสงแดด จะมีรังสียูวีที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา นอกจากนี้ความรุนแรงของเชื้อ จะรุนแรงมากหรือน้อย ยังขึ้นกับลักษณะพันธุกรรมของเชื้อ  ความแข็งแรง หรือภูมิต้านทานของแมลงอีกด้วย

 

วิธีการใช้เชื้อราเมธาไรเซียมกําจัดด้วงแรดมะพร้าว

  1. ทํากองปุ๋ยหมักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าว วางไข่ โดยทำกองล่อขนาด 2x2 เมตร
  2. จากนั้น 1 กองล่อ นำมาผสมเมตาไลต์ในอัตรา 1 กิโลกรัม กับวัสดุอินทรีย์ เช่น ซากพืชและปุ๋ยคอก รดน้ำให้ชุ่ม ปิดด้วยทางมะพร้าว
  3. โดยกองล่อ 1 กอง สามารถใช้ควบคุมด้วงแรดได้ 5 ไร่

 

ที่มา : http://at.doa.go.th/coconut/metarhizium.html

          กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

 

 

ที่มา : http://at.doa.go.th/coconut/metarhizium.html

          กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

 

วิธีการใช้เชื้อราเมธาไรเซียมกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย

  1. รดชีวภัณฑ์เมตาไลต์ลงในร่องปลูก จากนั้นวางท่อนพันธุ์แล้วใช้ชีวภัณฑ์เมตาไลต์ รดบนท่อนพันธุ์ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วรีบกลบฝังทันทีเพื่อไม่ให้แสงแดดเผาทำลายเชื้อรา
  2. หรือเพิ่มปริมาณเชื้อราโดยการผสมกับรำละเอียดหรือปุ๋ยหมัก โรยลงในร่องปลูกแล้วพรวนกลบทันที
  3. สามารถปล่อยเชื้อราไปพร้อมกับการให้ในระบบน้ำ (อัตรา  1-2  กก.ต่อไร่ ทุก  10-15 วัน จำนวน  1-2  ครั้ง)
  4. ใช้ชีวภัณฑ์เมตาไลต์ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้น้ำราดหรือใส่เครื่องพ่นยาฉีดบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก แล้วรีบกลบตามทันทีเช่นเดียวกัน วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ ที่สะดวกในการใช้น้ำ
  5. ควรผสมสารจับใบ เพื่อลดแรงตรึงผิว ทำให้เชื้อรากระจายในน้ำ เกาะบนผิวพื้น และตัวแมลงได้ดีขึ้น 

 

ที่มา : http://www.pmc04.doae.go.th/NE0949/pathogen_MetAni.htm

          ศูนย์บริการศัตรูพืช จังหวัดขอนแก่น

 

วิธีการใช้เชื้อราเมธาไรเซียมกำจัดแมลงศัตรูพืชทั่วไป

        แนะนำให้ผสมชีวภัณฑ์เมตาไลต์ในอัตรา 100 กรัม ร่วมกับ มูฟ-เอ็กซ์ (สารจับใบ) ในอัตรา 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเย็นทุก 3-7 วัน ตามการระบาดของแมลง ควรปรับสภาพแปลงให้มีความชื้นที่เพียงพอหรือฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น โดยฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืช ลงดินหรือวัสดุปลูกโดยเปิดรูหัวฉีดให้พ่นฝอย และต้องพ่นให้เปียกโชก (ควรผสมสารจับใบสำหรับชีวภัณฑ์ เพื่อให้สปอร์เกาะพืชและตัวแมลงได้ดี)

 

                        การฉีดพ่นชีวภัณฑ์เมตาไลต์เพียงครั้งเดียวอาจได้ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ต้องพ่นซ้ำ 2-3 ครั้งขึ้นไป และควรพ่นในช่วงที่แมลงยังตัวเล็กๆ หรืออยู่ในช่วงพักตัวอยู่ใต้ดินหรือวัสดุปลูก การพ่นต้องให้ถูกตัวแมลง เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิต การออกฤทธิ์ของเชื้อราจะไม่เหมือนสารเคมีที่สามารถดูดซึมผ่านไปยังเนื้อเยื่อได้ เมื่อแมลงมาดูดกินก็จะได้รับสารเคมีทำให้แมลงตาย แต่ในกรณีการพ่นเชื้อราก่อโรคในแมลงจะต้องให้สปอร์ไปตกหรือถูกตัวแมลงเท่านั้นจึงจะทำลายแมลงได้ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงช่วงเวลา แสง อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมเป็นสำคัญ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่นเชื้อราเมธาไรเซียมควรเป็นเวลาใกล้ค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่แมลงเริ่มออกหากินและตัวเชื้อราจะมีชีวิตรอดได้นานขึ้น

05 กันยายน 2567

ผู้ชม 1529 ครั้ง

Engine by shopup.com