เพลี้ยไฟฝ้ายภัยเงียบในไร่แตงโม

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

เพลี้ยไฟฝ้ายภัยเงียบในไร่แตงโม

เพลี้ยไฟฝ้าย  Cotton thrips ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thrips palmi Karny 

ในช่วงหน้าร้อนเกษตรกรที่ปลูก ”แตงโม” หรือ “พืชตระกูลแตง” อาทิเช่น แตงกวา แตงร้าน แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักแม้ว บวบ และมะระจีน อาจจะต้องพบเจอกับศัตรูพืชที่สำคัญอย่างแมลง แตงโมและพืชตระกูลแตงมีแมลงศัตรูพืชหลากหลายชนิด หนึ่งในชนิดที่สำคัญและระบาดมากในช่วงหน้าร้อนคงจะหนีไม่พ้นแมลงศัตรูพืชอย่าง “เพลี้ยไฟฝ้าย” ที่เกษตรอาจจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษและรับมือในช่วงฤดูร้อนที่กำลังมา

รูปร่างและวงจรชีวิต

ไข่ : ตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ในเนื้อเยื่อพืช มีสีขาวใส ขนาดประมาณ 0.1-0.2 มม. เมื่ออายุได้ประมาณ 4-8 วันจะฟักเป็นตัวอ่อน

ตัวอ่อน : ตัวอ่อนเพลี้ยไฟฝ้ายจะมีทั้งหมด 3 ระยะ ระยะแรกจะมีลักษณะสีขาวใส เรียว ปลายท้องแหลม ขนาดลำตัวประมาณ 0.2-0.3 มม. ระยะที่สอง มีสีเหลืองที่เข้มขึ้น ปลายท้องจะไม่แหลมเหมือนระยะแรก มีขนาดลำตัว 0.3-0.4มม. ระยะที่ 3 คือระยะก่อนเข้าดักแด้ จะมีสีเหลืองเข้มที่สุดใน 3 ระยะ ขนาดลำตัว 0.5-0.7 มม. เพลี้ยไฟฝ้ายจะมีระยะตัวอ่อนประมาณ 6-10 วัน และตัวอ่อนสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะ

ดักแด้ : ดักแด้จะมีลักษณะสีเหลือง ขนาดลำตัว 0.7-0.8 มม. ทิ้งตัวลงดินไม่เคลื่อนไหวและไม่กินอาหาร มีอายุประมาณ 3-4 วัน

ตัวเต็มวัย : มีลักษณะสีเหลืองเข้ม มีปีกยาวปกคลุมท้อง มีขนสีเทารอบปีก  เพลี้ยไฟตัวเต็มวัยเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว อายุตัวเต็มวัยประมาณ 16-24 วัน

แนวทางการป้องกันกำจัด

1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบแมลงให้ทำการป้องกันกำจัดทันที

2. กำจัดวัชพืชทั้งในและรอบแปลงปลูกเพื่อลดแหล่งอาศัยของแมลงศัตรูพืช

3. สามารถควบคุมดักแด้เพลี้ยไฟฝ้ายที่อาศัยอยู่ในดิน โดยการใช้เมตาไลต์ (เมทาไรเซียม แอนนิโซเพลีย สายพันธุ์ เอฟเอ็ม-101) พ่นลงดินหรือปล่อยกับระบบน้ำ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

4. ฉีดพ่น เมตาไลต์ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบมูฟ-เอ็กซ์ อัตรา 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อพบเพลี้ยไฟฝ้ายจำนวนน้อยก่อนการระบาดของเพลี้ยไฟฝ้าย ฉีดพ่นทุกๆ 3-7 วัน ให้ทั่วทั้งบนใบ ใต้ใบและบริเวณดินที่โคนต้น

5. กรณีที่เพลี้ยไฟฝ้ายระบาด เมตาไลต์ ร่วมกับสารเคมีเพื่อลดการดื้อยาของแมลงหรือพ่นสลับกับการใช้สารเคมีตามที่หน่วยงานราชการแนะนำ เช่น สไปนีโทแรม 12 % SC ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD ฟิโพรนิล 5% SC อีมาเมกตินเบนโวเอต 1.92% EC สไปโรมีซิเฟน 24% SC อิมิดาโคลพริด 70% WG และคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC โดยใช้ตามอัตราที่แนะนำของสารเคมีแต่ละชนิด 

**แนะนำ พ่นสารเคมีเมื่อพบเพลี้ยไฟฝ้ายมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ควรพ่นสารแบบสลับกลุ่มสารตามกลไกการออกฤทธิ์ ทุกรอบ 14 วัน โดยพ่นสารแต่ละกลุ่มไม่เกิน 3 ครั้งต่อรอบ และพ่นซ้ำตามความจำเป็น**

 

เรียบเรียงโดย : บุษราคัม ธีระกุลพิศุทธิ์

ขอบคุณข้อมูลจาก: สัจจะ ประสงค์ทรัพย์.2014.เพลี้ยไฟฝ้าย. สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย

                            สำนักควบคุมและวัสดุการเกษตร

ขอบคุณภาพจาก: สัจจะ ประสงค์ทรัพย์(2014), สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย(2022)

02 เมษายน 2568

ผู้ชม 20 ครั้ง

Engine by shopup.com