รู้จักแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ภัยเงียบเกษตรกรต้องระวัง

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

รู้จักแมลงหวี่ขาวใยเกลียว ภัยเงียบเกษตรกรต้องระวัง

แมลงหวี่ขาวใยเกลียว  (Spiralling Whitefly) ชื่อวิทยาศาสตร์ Aleurodicus dispersus Russell

ในช่วงหน้าร้อนเกษตรกรอาจจะต้องพบเจอกับแมลงศัตรูพืชที่เข้าทำลายพืชหลากหลายชนิดโดยเฉพาะแมลงตัวเล็กที่แพร่ระบาดได้ง่าย หนึ่งในนั้นก็คงจะเป็น แมลงหวี่ขาวใยเกลียว ที่เป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก ที่เข้าทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงในพืช สามารถเข้าทำลายพืชได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต มักอยู่รวมกับใต้ใบพืชเป็นกลุ่ม ปกคลุมไปด้วยฝุ่นและใยสีขาวมีลักษณะวนรอบกันเป็นวงกลม การเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวใยเกลียว สามารถส่งผลกระทบผลผลิตได้ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ 

รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิต

ตัวเต็มวัย : มีสีเหลืองอ่อน มีปีก 2 คู่ มีผงหรือไขสีขาวปกคลุมบริเวณปีก ความยาวลำตัว 2 มิลลิเมตร โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นรูปวงกลมบริเวณใต้ใบหรือบนใบพืช มีอายุประมาณ 30 วัน

ไข่ : จะมีระยะประมาณ 7-10 วัน เป็นวงกลมบนพื้นผิวของพืชแต่ละวงจะมีไข่ประมาณ 14-26 ฟอง

ตัวอ่อน : มี 4 ระยะ อายุประมาณ 30 วัน ตัวอ่อนระอยู่บนใบพืชไม่เคลื่อนไหว แบนราบไปกับผิวใบมีเส้นใยสีขาวพันปกคลุม

ดักแด้ : ระยะดักแด้อายุประมาณ 10 วัน ดักแด้จะอยู่บนผิวใบพืช อายุประมาณ 10 วัน ไม่ไขสีขาวห่อหุ้มและเส้นใยสีขาวพันปกคลุม

ลักษณะการเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวใยเกลียว

แมลงหวี่ขาวใยเกลียวทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเป็นแมลงปากดูด จะอาศัยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดบริเวณใต้ใบพืช ทำให้ใบพืชเหลือง ม้วนหงิก ขอบใบม้วนลงด้านล่าง ต้นแคระแกร็น เหี่ยว เมื่อเกิดการระบาดหรือการเข้าทำลายเป็นจำนวนมากจะทำให้พืชตายได้ นอกจากนี้แมลงหวี่ขาวใยเกลียวยังเป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคใบด่างในพืชต่างๆ ได้ ทำที่จะทำให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพลดลง

พืชอาหารของแมลงหวี่ขาวใยเกลี่ยว สามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช ทั้ง ดอก ใบ ยอด ผลอ่อน ชนิดพืชที่เข้าทำลายหลากหลาย เช่น ฝรั่ง พริก กระเจี๊ยบเขียว  มะเขือ มะม่วง องุ่น น้อยหน่า มันสำปะหลัง พืชตระกูลกะหล่ำ ถั่วชนิดต่าง ๆ และฝ้าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพืชอาหารของแมลงหวี่ขาวที่สามารถเข้าทำลายในพืชได้อีกมากกว่า 100 ชนิด

วิธีการป้องกันกำจัด

1.หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าดูการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชในแปลงปลูก

2. กรณีที่มีการเข้าทำลายน้อยให้ตัดบริเวณนั้นไปเผาทำลายทิ้ง กำจัดวัชพืชบริเวณรอบแปลงปลูกเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมงหวี่ขาวใยเกลียว

3.กรณีมีการระบาดระดับเริ่มต้น แนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์บิวเวอร์เรีย (บิว- เวอร์) อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ สารจับใบ เบนดิกซ์ 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อเริ่มพบแมลง 5 ตัวต่อใบ ฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง

4.หากพบการระบาดของแมลงหวี่ขาวใยเกลียวจำนวนมาก  แนะนำให้ใช้สารกำจัดแมลง

 ฟิโพรนิล 5 % SC อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร 

บูโพรเฟซิน 40% SC อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

ร่วมกับ ชีวภัณฑ์บิวเวอร์เรีย  (บิว- เวอร์) อัตรา 100 กรัม และ สารจับใบ เบนดิกซ์ 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

เน้นพ่นบริเวณใต้ใบที่มีตัวแมลงหวี่ขาวใยเกลียวอยู่   การใช้สารเคมีและชีวภัณฑ์ร่วมกันจะช่วยลดความต้านทานของแมลงต่อสารกำจัดแมลง

ข้อแนะนำในการใช้ชีวภัณฑ์

ก่อนฉีดพ่นสารแนะนำให้เพิ่มความชื้นในแปลง ให้มีความชื้นมากกว่า 60%ขึ้นไป  ฉีดพ่นช่วงเวลาเย็น และหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีแดดจัด ควรฉีดพ่นให้โดนตัวแมลงโดยตรง

 

 

ที่มา :  สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

เรียบเรียงโดย  : บุษราคัม  ธีระกุลพิศุทธิ์ 

18 มีนาคม 2568

ผู้ชม 223 ครั้ง

Engine by shopup.com