ยิปซัม สามารถใช้ร่วมกับชีวภัณฑ์ได้ไหม?
ยิปซัม สามารถใช้ร่วมกับชีวภัณฑ์ได้ไหม?
คำถาม: ยิปซัมใช้ร่วมกับชีวภัณฑ์ได้ไหม?
คำตอบ: ยิปซัม (Gypsum) สามารถใช้ร่วมกับชีวภัณฑ์ได้!
โดย ยิปซัม (gypsum) หรือ “แร่เกลือจืด” เป็นเกลืออนินทรีย์ที่ประกอบด้วย ธาตุแคลเซียม กำมะถัน และออกซิเจน
มีประโยชน์ด้านการปรับปรุงดิน 2 อย่าง คือ
(1) เป็นแหล่งธาตุรอง เนื่องจากมีธาตุ แคลเซียมและกำมะถัน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็น สำหรับพืช
(2) เป็นสารปรับปรุงสมบัติของดิน 2 ด้าน คือ ช่วยปรับปรุงสมบัติทางเคมี และสมบัติทางฟิสิกส์
การปรับปรุงโครงสร้างดิน: ยิปซัมประกอบด้วยแคลเซียมซัลเฟต ซึ่งช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินโดยการทำให้ดินมีการระบายน้ำดีขึ้น ลดความแข็งของดิน และเพิ่มการเข้าถึงของอากาศในดิน ซึ่งส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช
การลดความเป็นกรดของดิน: ยิปซัมช่วยลดความเป็นกรดในดินได้ในบางกรณี ซึ่งอาจมีประโยชน์ในดินที่มีความเป็นกรดสูง การปรับค่า pH ให้เป็นกลางสามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารของพืช
ช่วยปรับปรุงดินโซดิกทางเคมี โดยลดโซเดียมที่แลกเปลี่ยนได้ และเพิ่มแคลเซียม ที่แลกเปลี่ยนได้ พืชจึงไม่เป็นพิษจากโซเดียม และ ช่วยลดความหนาแน่นรวมของดิน โดยทำให้ดิน มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดีขึ้น การใส่ยิปซัมอัตราต่ำ นอกจากจะช่วยชดเชยแคลเซียม กำมะถันที่ติดไปกับผลผลิตพืชที่เก็บเกี่ยวแล้ว ยังป้องกันการเกิดดินโซดิกได้ด้วย
โดยทั้งสองชนิดนี้มีหน้าที่ต่อดินและต่อพืชแตกต่างกัน จึงช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตและการปรับปรุงสุขภาพของดินได้
ตัวอย่างเช่น การใช้ยิปซัมร่วมกับ บาซิลัส ซับทิลิส ช่วยให้ดินและพืชมีสุขภาพดีขึ้น และมีการเจริญเติบโตที่ดี
การควบคุมศัตรูพืชและโรคพืช: บาซิลัส ซับทิลิส เป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในดินและพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคพืช
การเสริมสร้างความสามารถในการย่อยสารอินทรีย์: การใช้ บาซิลัส ซับทิลิส จะช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ซึ่งสามารถทำให้ดินมีแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชมากขึ้น
1.การแข่งขันกับเชื้อสาเหตุโรคพืช (Competition)
เจริญเติบโตแข่งกับเชื้อโรคพืช โดยจะแย่งพื้นที่ อาหาร และแร่ธาตุกับเชื้อสาเหตุโรคพืชจะทำให้เชื้อโรคพืชอ่อนแอ และประสิทธิภาพในการก่อโรคกับพืชลดน้อยลง
2.การสร้างสารปฏิชีวนะ (Antibiosis)
สร้างสารปฏิชีวนะ ประเภท lipopeptide เช่น sufactin iturin และ difficidin ซึ่งมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช
3.การชักนำให้พืชต้านทานโรค (Induced host resistance)
เจริญบนรากหรือในรากพืช แล้วกระตุ้นให้มีการสร้างสารบางชนิดในต้นพืชที่ชักนำให้พืชเกิดความต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคพืช และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตต่อต้นพืช
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Chaudhary et al. 2021 ที่ศึกษาผลของยิปซัมต่อแบคทีเรียเขตรากพืชที่ทำหน้าที่หลักในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น การทำให้ฟอสเฟตและสังกะสีละลายได้ การผลิตไซเดอโรฟอร์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) และกรดอินโดลอะซิติก (IAA)
พบว่าการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเขตรากพืชในสภาพที่มียิปซัม (20 มก./ลิตร) แสดงให้เห็นรูปแบบการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้น
การใช้ยิปซัม นอกจากจะไม่เป็นพิษต่อแบคทีเรียเขตรากพืชที่มีประโยชน์แล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณสารอาหารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเขตรากพืช เพิ่มปริมาณโปรตีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเขตรากพืชเหล่านี้
ซึ่งนอกจากการใช้ยิปซัม (Gypsum) และชีวภัณฑ์หรือแบคทีเรียเขตรากพืชร่วมกัน ยังสามารถใช้ร่วมกับสารเสริมประสิทธิภาพชนิดอื่นได้อีก เช่น การใช้ยิปซัม แบคทีเรียเขตรากพืช และไคโตซาน ผลการวิจัยของ Amer et al. 2022 พบว่าการใช้ทั้งสามชนิดร่วมกัน ช่วยส่งเสริมการการเจริญเติบโตของข้าวโพดได้อย่างมาก สามารถลดความเครียดของพืชจากเกลือได้ โดยการดูดซับไอออน Na+ และปลดปล่อยไอออน N และ K+ ที่ไม่เป็นพิษและมีประโยชน์ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของดินและพืช ช่วยลดความแน่นดิน เพิ่มรูพรุนในดิน ช่วยเพิ่มคาร์บอนอินทรีย์ ฮิวมัส ปริมาณสารอาหารในดินได้อีกด้วย
ข้อมูลจาก
ประโยชน์ของยิปซัมในการเกษตร., ยงยุทธ โอสถสภา
Chaudhary, A., Chaudhary, P., Upadhyay, A., Kumar, A., & Singh, A. (2021). Effect of gypsum on plant growth promoting rhizobacteria. Environment and Ecology 39 (4A) , 1248-1256.
Amer, M. M., Elbagory, M., El-Nahrawy, S., & Omara, A. E. D. (2022). Impact of gypsum and bio-priming of maize grains on soil properties, physiological attributes and yield under saline–sodic soil conditions. Agronomy, 12(10), 2550.
04 ธันวาคม 2567
ผู้ชม 101 ครั้ง