ด้วงหมัดผัก..ศัตรูตัวร้ายในแปลงผัก

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

สอบถามข้อมูล/สั่งซื้อสินค้า
LINE id: @tabinnovation
โทร. 02-954-3120-6

ด้วงหมัดผักด้วงหมัดผักศัตรูตัวร้ายในแปลงผัก

ทำไมใบผักพรุนแบบนี้..?

จริงๆแล้วแล้วอาการพรุนนั้นมีจากหลายสาเหตุ ทั้งหนอนและแมลง แต่ลักษณะการพรุนเป็นรูค่อนข้างกลมขนาดเล็กๆเช่นนี้นั้นคือลักษณะการทำลายของ “ด้วงหมัดผัก” หรือ “หมัดกระโดด” หรือที่เกษตรกรบางพื้นที่เรียกกันว่า “กระเจา” ซึ่งการเข้าทำลายของด้วงหมัดผักพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของผักตระกูลกะหล่ำและผักใบ

ด้วงหมัดผัก

ในประเทศไทยพบด้วงหมัดผักเข้าทำลายพืชผัก 2 ชนิด คือ

1. ชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล Phyllotreta flexuosa

2. ชนิดปีกดำหรือปีกสีน้ำเงิน Phyllotreta chontanica

วงจรชีวิตของด้วงหมัดผัก

ด้วงหมัดผักแถบลายวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มบริเวณโคนต้นพืช เส้นกลางใบพืช และตามพื้นดิน ไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่ สีขาวอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนก่อนฟักเป็นตัว ระยะไข่ 3–4 วัน ตัวหนอนมีสีขาว ส่วนหัวและส่วนท้องมีสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลตามลำตัวและแผ่นหลังสีน้ำตาลอยู่ทางด้านบนของลำตัว หนอนอาศัยอยู่ในดิน ระยะหนอน 10–14 วัน และเข้าดักแด้ในดิน ส่วนปีกและขาของดักแด้แยกจากลำตัวเป็นอิสระเคลื่อนไหวได้ ระยะดักแด้ 4–5 วัน ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2–2.5 มม. ปีกคู่หน้าสีดำมีแถบเหลืองสองแถบพาดตามความยาวด้านล่างลำตัวสีดำ หนวดเป็นแบบเส้นด้าย อายุตัวเต็มวัย 30–60 วัน ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียแต่ละตัววางไข่ได้ 80–200 ฟอง

ลักษณะการทำลาย

ด้วงหมัดผัก (ด้วงหมัดกระโดด กระเจา) เป็นแมลงปีกแข็งชนิดเดียวที่เป็นศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำดอก และ ผักกาดหัว ตัวอ่อนของด้วงหมัดผักชอบกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโตถ้ารากถูกทำลายมากๆ จะส่งผลทำให้ผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินด้านล่างของผิวใบทำให้ใบมีรูพรุน และอาจกัดกินลำต้น และกลีบดอก ตัวเต็มวัยของด้วงหมัดผักเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดหนี และสามารถบินได้ไกล

แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด

-   เข้าสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ

-  หลังหยอดเมล็ดหรือย้ายกล้าปลูกใช้ชีวภัณฑ์ เมตาไลต์ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อัตรา 0.5-1.0 กิโลกรัม ต่อไร่ พ่นลงดินหรือปล่อยไปกับระบบน้ำ เพื่อทำลายไข่ หนอน และดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน

- ใช้ชีวภัณฑ์ เมตาไลต์ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ ชีวภัณฑ์ ทีเอบี บีทีเอ อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (4 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร) ผสมสารจับใบ เบนดิกซ์ อัตรา 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เลือกฉีดพ่นช่วงเย็นหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ ในแปลงมีความชื้น 60% ขึ้นไป ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วันตามการระบาดของแมลง

เรียบเรียงโดย นางสาวชุลีพร ใจบุญ

อ้างอิง

- กรมส่งเสริมการเกษตร ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๒ ประจำวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑  https://www.doae.go.th

- กองกีฎและสัตววิทยา, 2543, คำแนะนำการ ป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2543, กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ

ภาพจาก : https://images.app.goo.gl/Lc4c5rf2CyMBw47S7

ภาพจาก : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก

20 สิงหาคม 2567

ผู้ชม 365 ครั้ง

Engine by shopup.com