ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงระยะไหนได้บ้าง ?
ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงระยะไหนได้บ้าง ?
ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงระยะไหนได้บ้าง ?
การใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช ส่วนใหญ่เรามักฉีดให้โดนตัวแมลงเพื่อการออกฤทธิ์ที่ดีที่สุด หลายงานวิจัยได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับชีวภัณฑ์ซึ่งสามารถกำจัดแมลง
ได้ทั้งระยะ ตัวอ่อน หนอน ดักแด้ ตัวเต็มวัย นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ค้นพบว่าชีวภัณฑ์สามารถเข้าทำลายไข่ของแมลงได้อีกด้วย
เชื้อรา Metarhizium anisopliae เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคแมลง โดยเชื้อราสามารถสร้างเอนไซม์ ไลเปส โปรตีเอส และไคติเนส ที่ทำให้เส้นใยเชื้อราแทรกเข้าสู่ตัวแมลง ส่งผลให้แมลงเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด และเชื้อรายังสามารถเจริญปกคลุมบนไข่ของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด
จากงานวิจัยของ Vieira et al. (2021) ที่ทำการทดสอบในหนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย (Diatraea saccharalis) โดยพบว่าไข่ หนอนเจาะลำต้นและยอดอ้อย ที่ อายุ 0 - 72 ชั่วโมงที่ติดเชื้อราจะไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยสปอร์ของเชื้อราจะกระจายไปทั่วบริเวณไข่แดง ยับยั้งการพัฒนาของตัวอ่อน หลังจากผ่านไป 72 ชั่วโมงจะสังเกตเห็นเส้นใยและก้านชูสปอร์บนไข่ ซึ่งคงอยู่เป็นเวลาถึง 144 ชั่วโมง นอกจากแมลงศัตรูพืชเชื้อราชนิดนี้ยังสามารถเข้าทำลายไข่ของยุงได้ โดยพบว่าสปอร์ของเชื้อรานี้เกาะติดกับเยื่อหุ้มไข่ และเริ่มงอกภายใน 12 ชั่วโมง เริ่มงอก 10–25% ภายใน 24 ชั่วโมงแรกและสูงถึง 18–35% หลังจาก 48 ชั่วโมง และการงอกสะสม 30–40% หลังจาก 3 วัน และตรวจพบว่าสปอร์สามารถงอกได้แม้ผ่านไปนานถึง 10 วันหลังจากสัมผัสกับไข่ ภายในเต็มไปด้วยเส้นใยซึ่งในที่สุดจะผลิตเส้นใยและสปอร์ใหม่บนพื้นผิวไข่
เชื้อรา Beauveria bassiana เป็นหนึ่งในเชื้อราปฏิปักษ์ที่มีความสามารถในการควบคุมแมลงศัตรูพืช กำจัดแมลงได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะแมลงกลุ่มปากเจาะดูด ทั้งหนอนกอข้าว หนอนกระทู้ผัก เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งต้นทุเรียน แมลงหวี่ขาว โดยเชื้อราสร้างเส้นใยแทงเข้าสู่ตัวของแมลง ส่งผลให้แมลงเกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด การฉีดพ่นตั้งแต่ระยะไข่ เชื้อราสามารถสร้างเส้นใยขึ้นปกคลุมบนไข่ ทำให้ไข่ไม่สามารถขยายตัว ส่งผลให้ตัวอ่อนผิดปกติ และเชื้อยังสามารถเข้าไปสร้างท็อกซินและสปอร์ภายในไข่และสปอร์กระจายตัวเบียดกับตัวอ่อนในไข่ทำให้เกิดแรงดัน ส่งผลให้ตัวอ่อนผิดปกติ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่ไม่สมบูรณ์และมีสปอร์ที่ติดตามตัวและข้อปล้องต่างๆ ทำให้แมลงขยับตัวไม่ได้ และตายในที่สุด
มีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าเชื้อราปฏิปักษ์เหล่านี้สามารถเข้าทำลายได้ทุกระยะของแมลงรวมถึงไข่ของแมลงด้วย ฉะนั้นนอกจากการฉีดพ่นเพื่อฆ่าตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดควรฉีดพ่นตั้งแต่ระยะแมลงวางไข่จะดีที่สุด
เรียบเรียงโดย
หนึ่งฤทัย ไหมพรหม
เอกสารอ้างอิง
Vieira da Silva, C. , Vinicius Daquila, B. , Carla Lauer Schneider, L. , Roberto Tait Caleffe, R. , Cesar Polonio, J. , Araujo Canazart, D. , Nanya, S. and Conte, H. (2022) Potential of Two Metarhizium anisopliae (Clavicipitaceae) Isolates for Biological Control of Diatraea saccharalis (Lepidoptera: Crambidae) Eggs. Advances in Entomology, 10, 63-76.
de Sousa, N. A., Rodrigues, J., Arruda, W., Humber, R. A., & Luz, C. (2021). Development of Metarhizium humberi in Aedes aegypti eggs. Journal of Invertebrate Pathology, 184, 107648.
Maketon, M., Orosz-Coghlan, P., & Sinprasert, J. (2009). Evaluation of Metarhizium anisopliae (Deuteromycota: Hyphomycetes) for control of broad mite Polyphagotarsonemus latus (Acari: Tarsonemidae) in mulberry. Diseases of mites and ticks, 157-167.
Li, M., Lin, H., Li, S., Xu, A., & Feng, M. (2012). Efficiency of entomopathogenic fungi in the control of eggs of the brown planthopper Nilaparvata lugens Stål (Homopera: Delphacidae). African Journal of Microbiology Research, 6(44), 7162-7167.
Rodríguez-González, Á., Mayo, S., González-López, Ó., Reinoso, B., Gutierrez, S., & Casquero, P. A. (2017). Inhibitory activity of Beauveria bassiana and Trichoderma spp. on the insect pests Xylotrechus arvicola (Coleoptera: Cerambycidae) and Acanthoscelides obtectus (Coleoptera: Chrisomelidae: Bruchinae). Environmental Monitoring and Assessment, 189, 1-8.
Ali, A. A. B. (2022). Effect of the entomopathogenic fungus Beauveria bassiana (Balsamo) on eggs and eclosing larvae of the tick Argas (Persicargas) persicus (Oken). Veterinary Parasitology, 306, 109714.
29 เมษายน 2567
ผู้ชม 351 ครั้ง