ระวังโรคเหี่ยวเขียวกับพืชที่ปลูกในสภาพโรงเรือน

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

  บาซิทัส    Bacillus subtilis DOA 24

ป้องกันโรคเหี่ยวเขียวกับพืชที่ปลูกในสภาพโรงเรือน

(Bacterial wilt disease)

          ปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกพืชในสภาพโรงเรือน เนื่องจากหลีกเลี่ยงและลดปัญหาของโรคและแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่นพืชในวงศ์  Solanaceae   ตระกูลพริก มะเขือเทศ เป็นต้น  ถ้าปลูกซ้ำพื้นที่ มักจะพบปัญหาที่สำคัญคือ อาการต้นเหี่ยวไม่ทราบสาเหตุ และยืนต้นตาย โดยปกติจะมีปัญหาในช่วงฤดูฝน สภาพพื้นที่มีความชื้นสูง โดยสภาพโรงเรือนเหมาะสมแก่การเกิดโรคนี้  ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารเคมีในการกำจัด และโรคนี้สามารถที่สร้างความเสียหายให้กับพืชกว่า 200 ชนิด

สาเหตุโรคเหี่ยวเขียว       เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum 

ชนิดของพืชผักที่พบ          มะเขือเทศ มะเขือ พริก มันฝรั่ง พืชตระกูลแตง กล้วย ขิง และยาสูบ ฯลฯ

 

ลักษณะอาการของโรค

                อาการเริ่มแรกใบล่างจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ที่อยู่ล่างๆ มีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ระยะแรกจะแสดงอาการเหี่ยวเฉพาะเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด ต่อมาอาการเหี่ยวจะนานขึ้นจนกระทั่งเหี่ยวถาวรทั้งวัน อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอด ขอบใบม้วนลงด้านล่าง และยืนต้นตาย เมื่อถอนต้น ขึ้นมาพบว่าเกิดอาการเน่าขึ้นที่รากและถ้าตัดลำต้นออกตามขวางแช่ในน้ำใสภายใน 5-10 นาที จะมีเมือกสีขาวขุ่น (bacterial ooze) ไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายละลายปนกับน้ำออกมา เมื่อเป็นโรคมากภายในลำต้นจะกลวง เนื่องจากถูกเชื้อทำลายเนื้อเยื่อและตายในที่สุด

 

 

การแพร่ระบาด

        พบระบาดมากในเขตร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นในดินสูง มีพืชอาศัยกว้าง เชื้อสามารถอยู่ในดินได้นาน เข้าทำลายพืชทางรากโดยเข้าตามบาดแผลหรือช่องเปิดตาม ธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดีและติดไปกับส่วนขยายพันธุ์

การป้องกันกำจัดทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเชื้อสามารถอยู่ในดินได้นาน อีกทั้งยังไม่มีสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันกำจัด จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้พบเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์   BS DOA-24   มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวได้ดี ซึ่งทางบริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด ได้รับการถ่ายทอดเชื้อเพื่อมาผลิตเป็นการค้า และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรในชื่อการค้าว่า บาซิทัส

 

การป้องกันกำจัดเบื้องต้น

  1. ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ปลูก ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อนหรือใช้พันธุ์ต้านทานโรคเหี่ยวเขียว
  2. หมั่นตรวจและสังเกตแปลงปลูกเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดออกนำไปเผาทำลาย ขุดดินบริเวณรอบต้นนำไปฝังทำลาย โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออกเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
  3. ปรับระบบการใช้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดการระบาดของโรค
  4. ไถพลิกกลับดินตากแดดหลายๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อในดิน เตรียมดินให้มีการระบายน้ำได้ดี
  5. ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค
  6. การป้องกันโรคเหี่ยวเขียว ด้วยชีวภัณฑ์ บาซิทัส (แบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทิลิส DOA-24)  ใช้ราดหรือฉีดพ่นลงดินทุกๆ 7 วัน  อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในเวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็น หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ควรใช้ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกจะช่วยป้องกันโรคได้

 

 

อ้างอิง

กรมวิชาการเกษตร http://microorganism.expertdoa.com/disease

สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2019/08/warn252.pdf

กรมส่งเสริมการเกษตร กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช

 

เรียบเรียงโดย ทรงชัย ชมเหิม

27 พฤษภาคม 2567

ผู้ชม 2648 ครั้ง

Engine by shopup.com