โรคราแป้ง (Powdery mildew) ในมะม่วง
โรคราแป้ง (Powdery mildew) ในมะม่วง
โรคราแป้ง (Powdery mildew) ในมะม่วง
ในช่วงฤดูหนาวมะม่วงกำลังออกช่อดอกสวยๆเต็มต้น อากาศเย็นมีน้ำค้างในตอนเช้าโรคที่เป็นปัญหากับมะม่วงในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นโรคราแป้ง ถ้าปล่อยให้โรคราแป้งระบาดคงไม่ดีแน่ ช่อมะม่วงจะเหลือแต่กิ่งแห้งๆกับเชื้อราขาวๆฟูๆ แล้วเราจะเอาผลผลิตที่ไหนไปขายดี เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเถอะ จะได้เอาไปสังเกตในสวนว่ามีโรคราแป้งบ้างรึยังนะคะ
โรคราแป้ง (Powdery mildew) เชื้อสาเหตุ : Oidium mangiferae Benthet
โรคราแป้งมะม่วง (Powdery mildew) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Oidium mangiferae Benthet มักพบมากบนก้านช่อดอก และดอก ก้านช่อดอก เกิดเป็นผงสีขาวปกคลุมบริเวณ ก้านช่อดอก ทำให้เนื้อเยื่อของก้านช่อดอกช้ำเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อเชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายที่ดอก จะทำให้ดอกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง เหลือแต่ก้านช่อดอก และปลายก้านช่อดอกมักจะเห็นผงสีขาวของเชื้อราขึ้นปกคลุม ทำให้มะม่วงไม่สามารถติดผลได้ บางครั้งจะสามารถสังเกตเห็นโรคนี้บนใบได้ด้วย พบขุยของเส้นใยสีขาวด้านใต้ใบ ทำให้ใบบิดม้วนงอ
ลักษณะของเชื้อสาเหตุ : Oidium mangiferae Benthet ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
การแพร่ระบาด
ในสภาพอากาศหนาวเย็นโรคราแป้งจะเกิดได้ตลอดทั้งปี เชื้อราสาเหตุโรคราแป้งระบาดได้ทั้งระยะใบและระยะดอก แต่ในแหล่งปลูกทั่วๆไปในภาคกลาง มักพบการระบาดระยะช่อดอกมะม่วงในฤดูหนาว จะพบการระบาดมากในเดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์ เมื่อสภาพอากาศ แห้ง และเย็น อาการบนใบจะพบมากในมะม่วงที่ปลูกบนที่สูงและอากาศเย็น ส่วนภาคอื่นๆส่วนมากจะพบการระบาดบนช่อดอก
การจัดการโรคราแป้งในมะม่วง
- การกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกในช่วงแรกของการเริ่มฤดูกาลใหม่ เพื่อใส่ปุ๋ยกระตุ้นกิ่งหรือต้นให้สะสมอาหาร สามารถลดปริมาณการเกิดโรคได้
- การตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค ตัดกิ่งย่อยที่อยู่ในทรงพุ่ม และตัดแต่งเพื่อสร้างกิ่งใหม่ สร้างช่อดอกใหม่ ทำให้ทรงพุ่มโปร่งความชื้นในทรงพุ่มลดลง ลดความเสียหายจากการเกิดโรค
- สังเกตลักษณะอาการความผิดปกติของต้นพืช เพื่อดำเนินการป้องกันได้ทันท่วงที
- การใช้ชีวภัณฑ์ฉีดพ่นเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดโรคราแป้ง เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส ซับทิลิส
- ในกรณีที่ต้นแสดงอาการของโรคแล้วควรฉีดพ่นสารตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการ
อ้างอิง
Mehta, N. D., Patel, P. R., Pandya, H. V. and Patel, S. D. (2018). Assessment of various fungicides and bio-agents against the powdery mildew of mango (In vitro). International Journal of Chemical Studies, 6(1): 1063-1065.
Nasir, M., Mughal, S. M., Mukhtar, T. and Awan, M. Z. (2014). Powdery mildew of mango: A review of ecology, biology, epidemiology and management. Crop Protection, 64: 19-26.
17 มิถุนายน 2567
ผู้ชม 3208 ครั้ง