เพลี้ยแป้งในมะเขือ ปัญหาที่เกษตรกรห้ามมองข้าม
เพลี้ยแป้งในมะเขือ ปัญหาที่เกษตรกรห้ามมองข้าม
เพลี้ยแป้งในมะเขือ ปัญหาที่เกษตรกรห้ามมองข้าม
ในช่วงนี้เกษตรกรที่ปลูกมะเขือจะต้องพบเจอปัญหาสำคัญเช่นแมลงศัตรูพืช แมลงศัตรูพืชที่เป็นปัญหาและระบาดได้อย่างรวดเร็วเช่น “เพลี้ยแป้ง” สามารถสร้างความเสียหายให้กับพืชและผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูพืชที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจากสามารถเข้าทำลายพืชได้หลากหลายชนิด เช่น มะเขือ พริก ทุเรียน ส้ม ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล่อน แตงกวา เป็นต้น การเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งสามารถส่งผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านการส่งออกสินค้าทางการเกษตรและด้านคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจึงต้องเตรียมรับมือและเฝ้าระวังการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชอย่าง “ เพลี้ยแป้ง (Mealybugs) ”
รูปร่างและลักษณะ
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก มีผงแป้งสีขาวปกคลุมลำตัวจึงเรียกว่าเพลี้ยแป้ง ไม่มีปีก สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ตัวเต็มวัยจะไข่เป็นฟองเดี่ยวในถุงไข่เส้นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้ เมื่อฟักออกจากไข่ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่หาแหล่งอาหาร ตัวอ่อนมีสีเหลืองอ่อน ตัวเต็มวัยเพศเมียตัวจะค่อนข้างแบน มีสีเหลืองอ่อนหรือชมพูอ่อนสร้างผงแป้งสีขาวปกคลุมเต็มตัว ตัวเมียไม่มีปีก ตัวผู้จะมีปีกและบินได้เพื่อขยายพันธุ์และหาแหล่งอาหารใหม่
การเข้าทำลาย
เพลี้ยแป้งจะเข้าทำลายมะเขือโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง โดยใช้ปากที่เป็นท่อดูดน้ำเลี้ยงจากส่วน ใบ ดอก ตา ผล เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายน้ำหวาน Honeydew ออกมาซึ่งเป็นสาเหตุให้มีราดำปกคลุมใบทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ใบและยอดจะหงิกงอ ต้นไม้จะแคระแกร็นยอดไม่เจริญเติบโต มดก็เป็นหนึ่งในปัจจัยของการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง โดยมดที่เป็นพาหะของเพลี้ยแป้งจะมากินน้ำหวานที่เพลี้ยแป้งขับออกมา และนอกจากนี้มดยังเป็นพาหะในการขนย้ายตัวเพลี้ยแป้งให้แพร่ระบาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
การควบคุมและป้องกันกำจัด
1. ถ้าพบการเข้าทำลายน้อยยังไม่ระบาด แนะนำให้ตัดกิ่งหรือบริเวณที่โดนเข้าทำลายไปทิ้ง
2. กำจัดมดที่พบเจอพราะมดเป็นพาหะของเพลี้ยแป้งที่จะทำให้เพลี้ยแป้งระบาดบริเวณกว้างได้อย่างรวดเร็ว
3. ใช้สบู่กำจัดแมลงหรือสบู่โพแทสเซียมในการฉีดพ่นตามอัตราแนะนำ เพื่อล้างแป้งที่เกาะบนตัวแมลงและสัมผัสตัวแมลง ทำให้แมลงหายใจไม่ได้และฝ่อตาย
4. กรณีที่เพลี้ยแป้งเริ่มระบาด แนะนำให้ใช้ บิว-เวอร์ (เชื้อราบิวเวอร์เรีย บัสเซียน่า สายพันธุ์ บีซีซี 2660) อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบเบนดิกซ์ อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พยายามฉีดให้โดนตัวเพลี้ยแป้งเพื่อการเข้าควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์
ในการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแนะนำไม่ให้ฉีดพ่นวันที่ลมแรงและฉีดพ่นขนาดแดดจัด ฉีดพ่นช่วงเย็นที่แดดร่ม ความชื้นในแปลงควรมี 60-70 % ขึ้นไป ควรฉีดพ่นทั้งหน้าใบและหลังใบ โดนตัวแมลงโดยตรง จะทำให้ชีวภัณฑ์สามารถเข้าควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียบเรียงข้อมูลโดย บุษราคัม ธีระกุลพิศุทธิ์
28 เมษายน 2568
ผู้ชม 1585 ครั้ง