5 โรคพืชที่ระบาดในฤดูฝน

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

โรคพืชฤดูฝนโรคพืชที่ระบาดในฤดูฝน

เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงประมาณปลายเดือนตุลาคม อากาศมีความชื้นสูง อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคสูงขึ้น เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราและเซลล์แบคทีเรียสามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางน้ำและการพัดพาของลม ดังนั้นเกษตรกร ควรมีการเฝ้าระวังการเกิดโรคในแปลง โดยโรคที่มักมีการระบาดสูง ได้แก่

1. โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose Disease) พบได้ในพืชเกือบทุกตระกูล เช่น พริก มะม่วง สตรอเบอร์รี่ กล้วย ทุเรียน เป็นต้น โดยเชื้อสามารถเข้าทําลายพืชได้ ทุกส่วนตั้งแต่ ลําต้น ใบ ก้าน ดอก ผล และเมล็ด ทําให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงทำให้อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เกิดได้จากหลายสปีชีส์โดยสปีชีส์ที่พบเจอได้บ่อย เช่น Colletotrichum gloeosporioides และ Colletotrichum capsica

ลักษณะอาการ : ลักษณะอาการมองเห็นเป็นจุดแผลตรงกลางฉ่ำน้ำสีน้ำตาลหรือสีดำ ขอบแผลขยายเป็นวงซ้อนกัน เช่น ในพริก อาการเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดตั้งแต่จุดเล็กไปจนเต็มความกว้างของผล อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ ต่อมาแผลเหล่านี้จะแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอ หรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผลหรือเซลล์ที่ตายยอยู่ด้านในลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อเรียกดังกล่าว พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight) ทำให้ใบร่วงและเกิดอาการแห้งตายจากปลายยอดเข้ามา (die-back) เมื่อตรวจดูบริเวณแผลหรือส่วนของพืชที่แห้งตายด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบจุดเล็กๆสีดำ (acervulus) เป็นจำนวนมาก อาการของโรคจะเห็นได้ชัดเจนในระยะที่ผลพริกแก่เริ่มสุก ที่ผลพริกจะเกิดรอยช้ำแล้วขยายเป็นแผลสีน้ำตาลรูปร่างกลมรี ขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลงไปเป็นแอ่งมี acevulus เรียงซ้อนกันเป็นวงอยู่ในบริเวณแผล

การระบาด : ระบาดมากในสภาพอากาศที่เย็นลง หรือมีฝนตก แพร่กระจายได้ดีโดยน้ำ ลม แมลง สามารถผ่านเข้าสู่พืชได้โดยตรงและก่อให้เกิดโรคในสภาพแวดล้อมที่เหมาะมีความชื้นสูง พืชจะแสดงอาการของโรคให้เห็นภายใน 3-5 วัน สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค อุณหภูมิประมาณ 27-32°C ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 95 %

การป้องกันกำจัด : เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือต้นกล้าจากแหล่งที่ปราศจากโรค หรือถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์เองต้องเลือกจากที่ไม่เป็นโรค จัดระยะปลูกให้เหมาะสม ไม่ปลูกชิดกันเกินไป และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อไม่ให้แปลงปลูกมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนเป็นโรค เก็บนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรงควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค ใช้ ไตร-แท๊บ ผสมวัสดุเพาะกล้าอัตรา 1 กิโลกรัมต่อวัสดุปลูก 100-500 กิโลกรัม หรือใช้ ไตร-แท๊บ อัตรา 1 กิโลกรัมผสมปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก 100-500 กิโลกรัม รองก้นหลุม หว่านโคนต้น อัตรา 50-100 กรัม ต่อต้น ใช้ฉีดพ่นลงดินไปกับระบบน้ำ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วันใช้ เจน-แบค พ่นให้ทั่วลำต้นและทรงพุ่ม ก่อนการระบาด อัตรา100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 10-15 วัน และเมื่อเริ่มพบการระบาด พ่นทุก 5-7 วัน เพื่อลดปริมาณของเชื้อในแปลงลง โดยในระยะนี้ควรให้น้ำน้อยลง

การให้น้ำระบบน้ำพ่นฝอยทำให้ใบเปียก ความชื้นในทรงพุ่มสูง เกิดสภาพเหมาะต่อการเกิดโรค ในระยะโรคระบาดควรเปลี่ยนมาให้น้ำทางโคนต้นจะดีกว่าในการเก็บรักษาผลผลิตระหว่างขนส่ง หรือรอจำหน่ายควรเก็บผลพริกไว้ในที่เย็นอุณหภูมิคงที่จะช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวลงได้มาก


2. โรคใบจุด (cercospora leaf spot) มักพบในพืชผักตระกูลกระหล่ำและตระกูลแตง เกิดจากเชื้อรา Cercospora citrullina

ลักษณะอาการ : อาการเริ่มแรกจุดจะมีขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมรูปร่างไม่แน่นอนเป็นสีน้ำตาล กลางแผลมีสีเทา ขอบแผลออกสีม่วงถึงสีน้ำตาลเข้ม หากเป็นมากแผลจะทะลุ

การระบาด : ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ความชื้นสูง เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่กระจายตามน้ำ ลม แมลง สัตว์ เครื่องมือทางการเกษตรกร และเมล็ดพันธุ์ หรืออาศัยอยู่กับวัชพืชในแปลง

การป้องกันกำจัด : หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบส่วนที่เป็นโรคให้เด็ดทิ้งและนำไปทำลายนอกแปลงปลูกปลูกพืชหมุนเวียน และมีการจัดการระบบน้ำที่ดี ป้องกันก่อนการเกิดโรค โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ ตากดินก่อนปลูก 7-14 วัน ปรับสภาพดินให้อยู่ในช่วง pH 6.0-6.5 เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในดินคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น “ไตร-แท๊บ” หรือแช่เมล็ดในน้ำอุ่นก่อนปลูก สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ เช่น “ไตร-แท๊บ” เพื่อป้องกันกำจัดหรือเมื่อพบโรคในแปลง โดยใช้ ไตร-แท๊บ พ่นลงดิน อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน เพื่อป้องกันโรคทางดิน ป้องกันโรคทางใบ ใช้ เจน-แบค อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมร่วมกับสารจับใบ เบนดิกซ์ อัตรา 3-5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วัน และเมื่อเริ่มพบการระบาดของโรค ให้ตัดใบที่มีอาการของโรคออกนอกแปลง ให้ฉีด เจน-แบค พ่นทุก 3-5 วัน บริเวณใบและต้น


3. โรคเน่าคอดิน (damping off) ที่มักพบในต้นกล้าของพืชผักและพืชไร่ เกิดจากเชื้อรา Pythium sp. นอกจากนี้ยังมีโรครากเน่าโคนเน่า (Phytophthora root and foot rot) ที่พบในพืชยืนต้นหรือไม้ผล เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmovora

ลักษณะอาการ : อาการเริ่มจากเชื้อราเข้าทำลายระบบราก อาการที่เกิดในต้นกล้า เชื้อราเข้าทำลายทำให้เห็นแผลฉ่ำน้ำบริเวณรากและโคนต้นทำให้รากเน่าและโคนต้นหักฟุบลงและตาย ส่วนในไม้ยืนต้น เชื้อราเข้าทำลายทำให้รากเน่าเป็นสีน้ำตาล ต่อมาส่งผลให้ใบเหนือบริเวณที่รากเน่ามีอาการซีดเหลือง จากนั้นจะปรากฎอาการเน่ามีแผลฉ่ำน้ำ และมีน้ำไหลออกมาจากแผลที่โคนต้น เมื่อแผลเน่าลุกลามมากจะทำให้ใบร่วงหมดต้นและยืนต้นตายในที่สุด

การระบาด : เชื้อราสามารถแพร่กระจายจากการติดมากับเมล็ดพันธุ์ อยู่ในดินหรือแพร่กระจายโดยน้ำ

การป้องกันกำจัด :

1) ป้องกันโดยใช้ต้นที่เป็นพันธุ์ต้านทาน หมั่นสำรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบต้นกล้าที่เป็นโรค ให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที
2) ใช้เมล็ดพันธุ์ดีปราศจากเชื้อโรคพืช และมีความงอกสูง ไม่หว่านเมล็ดแน่นเกินไป เว้นระยะต้นให้แสงแดดสามารถส่องผ่านได้
3) ก่อนปลูกคลุกเมล็ดด้วยสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือ ไตร-แท๊บ วัสดุปลูกและแปลงปลูกควรสะอาด มีการระบายน้ำที่ดี อาจปรับสภาพดินในแปลงด้วยปูนขาว หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์และ ไตร-แท๊บ ในดินก่อนปลูก
4) ทำทางระบายน้ำในสวนไม่ให้มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณรอบโคนต้นลดการใช้สารกำจัดวัชพืชใกล้บริเวณโคนต้น
5) ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกไปทำลายนอกแปลงปลูก ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ ต้นเป็นโรคแล้วให้ทำการรักษาแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรค เจน-แบคหรือ ไตร-แท๊บ ร่วมกับสารเคมีป้องกำจัดโรคพืชการควบคุมและป้องกันกำจัดโรคในดิน
5.1) ใช้ ไตร-แท๊บ ฉีดพ่นลงดินหรือปล่อยไปกับระบบน้ำ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อลดธาตุอาหารที่เชื้อโรคใช้ในการเจริญเติบโตและครอบครองพื้นที่ หรือ
5.2) ใช้ เจน-แบค ผสมน้ำ อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นลงดินหรือปล่อยไปกับระบบน้ำ และฉีดพ่นให้ทั่วลำต้นและทรงพุ่ม ก่อนการระบาด สามารถใช้พ่นร่วมกับ ปุ๋ย หรือ อาหารเสริมได้
5.3) ใช้ จัสเตอร์ ฉีดพ่นลงดินหรือปล่อยไปกับระบบน้ำ อัตราโดยปริมาณน้ำ 50-100 ซีซี/ต้น เพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และช่วยให้ดินไม่เหมาะสมต่อการเกิดโรคให้ปรับดินให้อยู่ในช่วง pH 5.5-6.5


4. โรคใบจุดสาหร่าย (Algal leaf spot) เกิดกับพืชไม้ผล หลายชนิด เช่น มะม่วง ฝรั่ง มะกรูด ทุเรียน อะโวคาโด เป็นต้น มักพบตามบนใบ กิ่งและลำต้น เกิดจากสาหร่าย Cephaleuros virescens

ลักษณะอาการ : เริ่มจากใบเป็นแผลจุด ขุยสีเทาอมเขียวฟูเล็กน้อย จากนั้นจุดขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม ลักษณะค่อนข้างกลม ขนาด 3 – 5 มิลลิเมตร ต่อมาจุดจะแห้งและทำให้แผลบริเวณเนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบมีสีน้ำตาลดำ ใบที่เป็นโรคจะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและร่วงไปในที่สุด

การระบาด : เชื้อเข้าทำลายพืชได้หลายชนิดสปอร์ของสาหร่ายสามารถปลิวไปกับลม ฝน  และการให้น้ำ มักระบาดมากในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในฤดูฝน

การป้องกันกำจัด : ตัดใบที่เป็นโรคออกไปทิ้งนอกแปลงปลูก ไม่ควรปลูกต้นไม้แน่นจนเกินไปและแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อให้อากาศระบายได้ดีและช่วยลดความชื้น


5. โรคราแป้ง (powdery mildew) มักพบในพืชตระกูลแตง พริกและมะเขือ หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ เกิดจากเชื้อรา Oidium sp.

ลักษณะอาการ : อาการเกิดที่ใบล่างก่อนแล้วจึงลามขึ้นสู่ใบบน โดยเชื้อราจะกระจายตัวมองเห็นเป็นสีขาวปกคลุมทั่วใบ ต่อมาใบแห้งและตายในที่สุด

การระบาด : มักระบาดมากในช่วงที่มีความชื้นสูง หรือช่วงอากาศเปลี่ยนจากหน้าฝนกลับกลายเป็น ช่วงหน้าหนาว หรืออุณหภูมิของอากาศนั้นเย็นลง มีหมอก เกิดขึ้นตอนเช้าๆ หรือในช่วงที่ยังคงมีหมอกและมีความชื้นมาก

การป้องกันกำจัด : ใช้พันธุ์ต้านทาน หมั่นสำรวจแปลง หากพบโรคเข้าทำลายให้เด็ดหรือตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย แนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์ เจน-แบค อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้ เจน-แบค+ไตร-แท๊บ อัตรา 50+50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถใช้ป้องกันตั้งแต่ก่อนปลูกพืช รองก้นหลุม ฉีดพ่นลงดิน ราดหรือปล่อยไปกับระบบน้ำ และฉีดพ่นลำต้นพืชทุก 5-7 วัน สามารถใช้ผสมสารกำจัดแมลง ปุ๋ย ฮอร์โมน และธาตุอาหารเสริม ควรฉีดพ่นช่วงเวลาเย็น อากาศไม่ร้อน ฉีดพ่นทั่วทั้งต้นพืช

 

 

เรียบเรียงโดย หนึ่งฤทัย ไหมพรหม

ข้อมูลจาก

-บ้านและสวน

-หนังสือโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ

-สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

-ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร

-กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลสาคู

-สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดระยอง

-ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี 

 

 

29 ตุลาคม 2567

ผู้ชม 564 ครั้ง

Engine by shopup.com