การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในพริก

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชในพริก

พริก  เป็นพืชที่คนสนใจปลูกเป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งปลูกเป็นผักสวนครัวติดบ้าน และปลูกเพื่อเป็นอาชีพ คนไทยนิยมบริโภคพริกทั้งในรูปพริกสด พริกแห้ง พริกป่น นำมาผลิตเป็นเครื่องแกงสำเร็จรูป  จำหน่ายในประเทศและส่งออก ซึ่งการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด การจัดการระบบปลูกและป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชจึงมีความสำคัญ

 

การเตรียมดิน

                โดยไถพลิกหน้าดิน 15 เซนติเมตร ตากดินทิ้ง 5-7 วันไถพรวน 1 ครั้ง  ใช้จัสเตอร์ ปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน(pH) อยู่ในช่วง 6.0-6.8  และใช้ไตรแท๊บ 1 กิโลกรัมผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก 100-200 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วแปลง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ลดการสะสมของเชื้อโรคพืช

 

การเพาะเมล็ดพันธุ์

การเพาะเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกโดยแช่น้ำ หรือแช่น้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นานประมาณ 30 นาที

  • เพาะกล้าในถาดเพาะ ผสมไตร-แท๊บ อัตรา 1 กิโลกรัมต่อวัสดุปลูก 100-500 กิโลกรัม หรือพ่นหรือราดด้วยไตร-แท๊บ  อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

การปลูก

การปลูกแบบไม่ยกแปลง เหมาะกับแปลงที่ระบายน้ำดี โครงสร้างดินเป็นดินร่วน

การปลูกแบบยกแปลง เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ระดับน้ำใต้ดินสูง โครงสร้างดินเป็นเหนียว ระบายน้ำยาก

  • หลังย้ายกล้า 10 วัน พ่นไตรแท๊บ อัตรา 100 กรัม ร่วม บาซิทัส อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ลงดินทุก 7-10 วัน

  • ระยะเจริญเติบโต-เก็บเกี่ยว

พ่นชีวภัณฑ์ป้องกันโรคบนต้นเจนแบค อัตรา 100 กรัม เบนดิกซ์  3-5 ซีซีและ จัสเตอร์ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน  พ่นไซเบ็ค 1016 อัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 10 วัน

 

กรณีเริ่มพบการเกิดโรคเหี่ยวเขียว ให้รีบน้ำต้นที่แสดงอาการโรคออกจากแปลงทันทีและเผาทำลาย เพื่อลดการระบาดในแปลง และปรับวิธีการให้น้ำ ไม่ควรให้น้ำแบบไหลตามตามร่อง เพราะเชื้อโรคพืชสามารถแพร่กระจายไปกับน้ำได้ แล้วฉีดพ่นด้วย บาซิทัส+เจนแบค+จัสเตอร์  อัตรา 50+100 กรัม +100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ลงดินบริเวณที่เกิดโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

 

โรคที่สำคัญในพริกที่เกิดกับระบบราก

โรครากเน่าและโคนเน่า

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Sclerotium rolfsii Sacc.

อาการ : ต้นพริกจะแสดงอาการใบเหลืองและร่วง ต่อมาต้นพริกจะเหี่ยวยืนต้นตาย บริเวณ โคนต้นเห็นเส้นใยสีขาวและเม็ดสเคลอโรเทียสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ลักษณะคล้ายเมล็ดผักกาดซึ่งจะสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นเวลานาน

 

โรคเหี่ยวเหลือง

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Fusarium sp.

อาการ : ต้นพริกมีอาการใบเหลืองเริ่มจากด้านล่าง และลุกลามขึ้นด้านบน ระบบรากถูกทำลาย เมื่อตัดขวางลำต้นพบท่อลำเลียงเป็นสีน้ำตาลดำ

 

โรคเหี่ยวเขียว

เชื้อสาเหตุ :เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum.

อาการ : ต้นพริกแสดงอาการเหี่ยวเฉา ใบลู่ลงในช่วงเวลาแดดจัด และฟื้นกลับมาในช่วงค่ำ อาการรุนแรงมากพริกจะยืนต้นตาย

 

 

โรคที่สำคัญในพริกที่เกิดบนลำต้น

โรคแอนแทรกโนส หรือ กุ้งแห้ง

เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Colletotrichum spp

อาการ : อาการของโรคจะเห็นได้ชัดเจนในระยะที่ผลพริกแก่เริ่มสุก ที่ผลพริกจะเกิดรอยช้ำแล้วขยายเป็นแผลสีน้ำตาลรูปร่างกลมรี ขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลงไปเป็นแอ่งเห็นเป็นวงเรียงซ้อนกันอยู่ในบริเวณแผลจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ ต่อมาแผลเหล่านี้จะแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอ หรือบิดเบี้ยวลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อเรียกดังกล่าว ส่วนอาการบนใบยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย ทำให้ใบร่วงและเกิดอาการแห้งตายจากปลายยอดเข้ามา

 

โรคใบจุดตากบ

เชื้อสาเหตุ :เชื้อรา Cercospora capsici.

อาการ : พบแผลลักษณะกลม มีจุดสีขาวเทาตรงกลางแผลคล้ายตากบ ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มและรอบๆแผลมีสีเหลือง พบที่ใบล่างก่อน และลุกลามขึ้นสู่ใบด้านบน ถ้ามีการระบาดรุนแรงใบพริกจะร่วงทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต ระบาดมากในสภาพอากาศร้อน

 

โรคใบด่าง กำจัดแมลงพาหะ

เชื้อสาเหตุโรค : เชื้อไวรัส Cucumber mosaic virus (CMV)

ลักษณะอาการ : ต้นพริกเตี้ยแคระแกร็น ใบมีอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน บิดเบี้ยว ผิดรูปร่างและลดขนาดเรียวเล็กลง อาจพบจุดแผลตายเฉพาะแห่งสีน้ำตาลบนใบ ดอกหลุดร่วงง่าย ผลมีผิวขรุขระ ขนาดเล็กลงและอาจพบอาการด่างบนผลพริก

 

การป้องกันกำจัด

  • ปลูกพริกพันธุ์ต้านทานโรค ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านทางเมล็ดพันธุ์ได้
  • กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ
  • หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของไวรัส เช่น แตงกวา มะเขือ ยาสูบ บวบ
  • สำรวจแปลงพริก อย่างสม่ำเสมอ หากพบแมลงให้รีบป้องกันกำจัดทันที การป้องกันโรคไวรัสในพริกยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่สามารถควบคุมการระบาดแมลงได้ โดยการป้องกันและกำจัดแมลงพาหะ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว ไรขาว 

 

 

แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ

 

เพลี้ยไฟ : ส่วนใหญ่เข้าทำลายบริเวณยอด และใบอ่อน ขอบใบม้วนขึ้น ทำให้ยอดหรือใบอ่อนหงิก เมื่อใบพริกแก่จะเห็นเป็นรอยกร้านสีน้ำตาล ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงลดลง พริกจะชะงักการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตน้อยลง และมีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้น   หากเพลี้ยไฟระบาดในระยะที่พริกออกดอก จะทำให้ดอกพริกหลุดร่วง  ถ้าระบาดในระยะติดผล พริกจะมีลักษณะบิดงอ แคระแกร็น และมีคุณภาพต่ำ

ไรขาว : พริกที่ถูกไรดูดทำลายจะมีอาการใบหงิก ขอบใบม้วนลง ยอดอ่อนแตกเป็นฝอย ก้านใบยืดออก ใบเรียวเล็กใต้ใบเป็นสีน้ำตาล ระบาดรุนแรงอาการใบหงิกนี้จะค่อยๆ ลุกลามจากยอด และใบอ่อนลงมายังใบล่างๆ ทำให้พริกชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรนไม่ติดผล

เพลี้ยอ่อน : ตัวอ่อนมีสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดอ่อนพริก ซึ่งทำให้พริกมีอาการผิดปกติและเกิดโรคในพริกได้ นั่นคือโรคใบด่างประพริก และใบด่างพริก

แมลงหวี่ขาว : ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ส่วนมากทางด้านใต้ใบ ตัวอ่อนวัยแรกมีสีเหลืองเคลื่อนที่ได้ดี แต่วัยถัดมาตัวจับติดอยู่ใต้ใบลักษณะกลมๆ เป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่ต้นพริกได้อีกด้วย นั่นก็คือโรคใบหงิกเหลือง

แนวทางการป้องกันแมลงศัตรูในพริก

  • ปลูกพริกพันธุ์ต้านทานโรค ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านทางเมล็ดพันธุ์ได้
  • กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ
  • หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของไวรัส เช่น แตงกวา มะเขือ ยาสูบ บวบ
  • สำรวจแปลงพริก อย่างสม่ำเสมอ หากพบแมลงให้รีบป้องกันกำจัดทันที การป้องกันโรคไวรัสในพริกยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่สามารถควบคุมการระบาดแมลงได้
  • การป้องกันและกำจัดแมลงพาหะ
       - เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว ใช้ บิว-เวอร์ อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบเบนดิกซ์ ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน
       - เพลี้ยไฟ ใช้ เมตาไลต์ อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบมูฟเอ็กซ์ อัตรา 3 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน 
       - ไรขาว ใช้ เมตาไลต์ อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับสารจับใบไซล็อค อัตรา 3 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน 

 

 

 

เรียบเรียงโดย : ชุลีพร ใจบุญ

อ้างอิง :

สำนักงานปลัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.opsmoac.go.th

กรมวิชาการเกษตร  https://www.doa.go.th

กรมวิชาการเกษตร http://microorganism.expertdoa.com

พิสุทธิ์ เอกอำนวย. (2563). โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ. สายธุรกิจโรงพิมพ์

09 สิงหาคม 2567

ผู้ชม 2894 ครั้ง

Engine by shopup.com