เพลี้ยหอยในส้ม

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

 

เพลี้ยหอยในส้ม

อีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกส้ม จะพบการระบาดของเพลี้ยหอยในแปลง ซึ่งชนิดเพลี้ยหอยที่ระบาดในพืชตระกูลส้ม จะเป็นเพลี้ยหอยสีแดงแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นแมลงที่จัดอยู่ในแมลงกลุ่มปากเจาะดูด
ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มโอ รวมไปถึงมะนาว ซึ่งจะเข้าทำลายตามใบ กิ่ง และผลอ่อน ทำให้ผลผลิตเสียหายส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตร

แมลงศัตรูพืช : เพลี้ยหอยสีแดงแคลิฟอร์เนีย
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : California red scale

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aonidiella aurantii (Maskell)

พืชอาศัย : เข้าทำลายในพืชตระกูลส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มโอ และ มะนาว

รูปร่างลักษณะ : เป็นเพลี้ยหอยเกราะอ่อน สีน้ำตาลแดง เปลือกคลุมค่อนข้างบาง มีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายโล่
ในเพศเมียขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ในเพศผู้ตัวอ่อนมีรูปร่างรูปไข่ ตัวเต็มวัยมีปีก 1 คู่ ขนาดเล็กมาก

การระบาด : ช่วงฤดูร้อน และมักเข้าทำลายรุนแรงในช่วงที่ส้มเริ่มติดผลอ่อน

 

 

 

วงจรชีวิตเพลี้ยหอยสีแดงแคลิฟอร์เนีย

          ตัวเต็มวัยเพศเมีย มีไขปกคลุม สีน้ำตาลแกมแดง ตัวกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 มม. วางไข่ใต้ท้อง เพศเมียสามารถวางไข่ได้ 100 - 150 ฟองตลอดอายุขัย ตัวเต็มวัยเพศผู้ มีปีก 1 คู่ เมื่อพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยจะตามกลิ่นฟีโรโมนเพศเมียเพื่อเข้าผสมพันธุ์ทันที เนื่องจากมีอายุประมาณ 6 ชม. ตัวอ่อน เมื่อฟักออกจากไข่จะใช้เวลา 2-3 วัน จึงออกจากใต้ท้องตัวเต็มวัยเพศเมีย ระยะนี้ลำตัวจะมีสีเหลืองอ่อน

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

          ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยหอยดูดกินน้ำเลี้ยงบนผลส้ม และปล่อยน้ำลายที่เป็นสารพิษต่อส้ม หากเพลี้ยหอยแดงดูดกินน้ำเลี้ยงจากผลส้ม จะทำให้ผลเป็นหลุม ผิวส้มเสียหาย เมื่อมีการระบาดรุนแรงปริมาณเพลี้ยหอยส้มที่เกาะอยู่บนเปลือกส้มหนาแน่นมาก จนมองดูคล้ายสนิมเหล็กทั้งผล การทำลายบนผลที่ยังไม่แก่จะทำให้ผลแคระแกร็น เนื้อในแข็งหยุดการพัฒนาแล้วร่วงหล่น หากลงทำลายในช่วงที่ผลแก่จัดจะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของเนื้อ แต่มีผลกระทบโดยตรงกับราคาผลผลิต ซึ่งจะต่ำมาก นอกจากผลส้มแล้วเพลี้ยหอยยังสามารถทำลายกิ่ง ก้าน ใบ และตลอดลำต้นอีกด้วย อาจทำให้กิ่งส้มแห้งตายได้ เมื่อมีการระบาดมาก

 

การป้องกันกำจัด

1.เลือกใช้ต้นส้มที่ไม่มีเพลี้ยหอยไปทำพันธุ์
2.หมั่นสำรวจแปลงปลูกหากพบให้รีบทำการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด

3.ฉีดพ่นชีวภัณฑ์ บิว-เวอร์ หรือเชื้อราบิวเวอเรีย บัสเซียน่า เมื่อเริ่มพบตัวตัวอ่อนเพลี้ยหอย

   อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ เบนดิกซ์ อัตรา  5-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

4.ตัดกิ่งและใบที่พบเพลี้ยหอยมากไปเผา เพื่อลดจำนวน เพราะตัวแม่ 1 ตัว สามารถออกลูกได้ถึง 500-1000 ตัว

 

 

แหล่งที่มา  เอกสารวิชาการ การจัดการศัตรูส้มโอเพื่อการส่งออก กรมวิชาการเกษตร

                  ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร

 

เรียบเรียงโดย ทรงชัย ชมเหิม

17 มิถุนายน 2567

ผู้ชม 5024 ครั้ง

Engine by shopup.com