โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม (Canker)

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม (Canker)

          ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลมะนาวและส้มควรระวังและป้องกันการเกิดโรคแคงเกอร์เนื่องจากมีฝนตกติดต่อกัน ทำให้สภาพอากาศชื้น เหมาะต่อการเกิด โรคแคงเกอร์ หรือที่ชาวสวนเรียกกันว่าโรคขี้กากส้ม เป็นโรคประจำตัวของพืชตระกูลส้ม บางสายพันธุ์ทนทานต่อโรคนี้ บางสายพันธุ์ก็อ่อนแอต่อโรคนี้และเป็นปัญหาส่งผลกระทบถึงผลผลิต
สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  Xanthomonas campestris pv. citri

 

ลักษณะอาการ

          เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ทั้งใบอ่อน กิ่ง และผลมะนาว ทำให้เกิดเป็นแผลตกสะเก็ดนูนสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ ทั้งใบ กิ่งและผล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เห็นเป็นวงซ้อนๆ กัน ต่อมาจะเหลืองแห้ง และหลุดล่วงไป อาการจะลุกลามติดกับใบอ่อนที่เกิดบาดแผลจากหนอนชอนใบเข้าทำลาย อาการเริ่มแรกที่พบเห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำใสๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟและจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตรงกลางแผลจะตกสะเก็ดนูนขึ้น สีน้ำตาลอ่อน ส่วนอาการที่เกิดตามกิ่งอ่อนและผลจะพบแผลตกสะเก็ดนูนขึ้นสีน้ำตาลเช่นเดียวกัน แผลที่กิ่งและผลอาจจะแตกเป็นแผลทำให้เกิดยางไหล ลุกลามไปยังใบทำให้ใบหลุดร่วงและกิ่งแห้งตายไปในที่สุด

 

 

การแพร่กระจาย

            แพร่กระจายได้ตามกระแสลม น้ำค้าง ฝน แมลง และมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายกิ่งที่มีโรคโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากแหล่งหนึ่งไปยังสถานที่อื่นๆ เป็นระยะทางไกลๆได้ ช่วงที่ระบาดจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน

 

วิธีการป้องกันกำจัด

1.ควรเลือกกิ่งพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ หรือไม่นำกิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคไปปลูก
และใช้กิ่งพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ

2.ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการโรคตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคเผาทำลาย สามารถลดการระบาดของโรคนี้ได้

3.ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง

4.กำจัดแมลงพวกหนอนชอนใบ โดยเฉพาะช่วงที่ส้ม มะนาว และมะกรูดแตกใบอ่อน เนื่องจากรอยทำลายของหนอนชอนใบเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายพืช ทำให้อาการโรคลุกลามอย่างรวดเร็ว

5.ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ช่วยลดการเกิดโรคได้

6.ฉีดพ่น เจน-แบค หรือแบคทีเรียบาซิลัส ซับทิลิส อัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7-15 วัน เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรค แต่หากพบการระบาดให้ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ควรฉีดพ่นช่วงเย็นหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด

 

 

เรียบเรียงโดย  ทรงชัย ชมเหิม

 

 

ที่มา

โรคแคงเกอร์มะนาว, กรมวิชาการเกษตร

สำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร

กลุ่มพยากรณ์และเตือนระบาดศัตรูพืชกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

 

================================================
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
YouTube Channel: http://bit.ly/LGH_YouTube
================================================
 

17 มิถุนายน 2567

ผู้ชม 2538 ครั้ง

Engine by shopup.com