โรคแอนแทรคโนสในพริก (กุ้งแห้ง)

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

        การปลูกพริกในช่วงฤดูฝนที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง มักจะพบปัญหาการระบาดของ   “โรคแอนแทรคโนส”  ที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคพืช ซึ่งเชื้อสามารถเข้าทําลายพืชได้ ทุกส่วนตั้งแต่ ลําต้น ใบ ก้าน ดอก ผล และเมล็ด เป็นโรคที่ทําให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงทำให้อายุการเก็บเกี่ยวสั้น การลดการเข้าทำลายโรคพืชและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องมีการป้องกันก่อนการเกิดโรค ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืช

โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose Disease)

ลักษณะอาการ โรคนี้เกิดกับพริกได้ทุกระยะ ถ้ามีเชื้อติดมากับเมล็ดพันธุ์ อาจเข้าทำลายพริกตั้งแต่ระยะต้นกล้า ทำให้ต้นกล้าแห้งตาย ในระยะต้นโตจะพบแผลสีน้ำตาลที่ใบและกิ่งก้าน ผลพริกเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดตั้งแต่จุดเล็ก ไปจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ ต่อมาแผลเหล่านี้จะแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอ หรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผลหรือเซลล์ที่ตายยอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อเรียกดังกล่าว พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight) ทำให้ใบร่วงและเกิดอาการแห้งตายจากปลายยอดเข้ามา (die-back) เมื่อตรวจดูบริเวณแผลหรือส่วนของพืชที่แห้งตายด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบจุดเล็กๆสีดำ (acervulus) เป็นจำนวนมาก อาการของโรคจะเห็นได้ชัดเจนในระยะที่ผลพริกแก่เริ่มสุก ที่ผลพริกจะเกิดรอยช้ำแล้วขยายเป็นแผลสีน้ำตาลรูปร่างกลมรี ขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลงไปเป็นแอ่งมี acevulus เรียงซ้อนกันเป็นวงอยู่ในบริเวณแผล

 

สาเหตุโรค เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum spp. เป็นเชื้อราใน Kingdom Fungi ระยะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศสร้าง conidia เซลล์เดียว ใส ภายในโครงสร้างที่ให้กำเนิดสปอร์แบบ acervulus เชื้อที่พบในพริกมีหลาย species ได้แก่ capsici สร้าง conidia เชลล์เดียว ใส รูปร่างโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว (falcate) ขนาดเฉลี่ย   9 -14 x 6.5 - 11.5 ไมโครเมตร สร้าง setae (โครงสร้างที่ช่วยในการดีดสปอร์)จำนวนมา C. gloeosporioides สร้าง conidia เชลล์เดียวใส รูปร่างทรงกระบอกหัวท้ายมน (cylindrical) ขนาดเฉลี่ย 9 -24 x 3-4.5 ไมโครเมตร ส่วนใหญ่ไม่สร้าง setae acutatum สร้าง conidia เซลล์เดียว ใส รูปร่างทรงกระบอกแต่ส่วนปลายเรียวหรือมีรอยคอดตรงกลาง (fusiform)ไม่สร้าง setae

 

การแพร่ระบาด  

          เมื่อ conidia เจริญเต็มที่ จะถูกดันหรือถูกดีดออกมาภายนอก ซึ่งจะแพร่กระจายได้ดีโดยน้ำ ลม แมลง สามารถผ่านเข้าสู่พืชได้โดยตรงและก่อให้เกิดโรคในสภาพแวดล้อมที่เหมาะมีความชื้นสูง พืชจะแสดงอาการของโรคให้เห็นภายใน 3-5 วัน ในแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์พริก ถ้ามีโรคระบาดในระยะผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว อาจมีเชื้อราสาเหตุโรคติดอยู่ที่บริเวณ seed coat ของเมล็ดพันธุ์ เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่มีเชื้อติดอยู่ไปปลูก จะทำให้โรคระบาดในพื้นที่ใหม่ๆได้ นอกจากความเสียหายในแปลง ถ้ามีเชื้อโรคติดมากับผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว จะทำให้พริกเน่าระหว่างการเก็บและรอจำหน่าย สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเกิดโรค อุณหภูมิประมาณ 27-32 °C ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 95 %

การควบคุมโรค

  1. เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากแหล่งที่ไม่มีโรคระบาดหรือจากบริษัทที่มีการตรวจสุขภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน
  2. เว้นระยะปลูกให้เหมาะสม ไม่ควรปลูกพริกแน่นเกินไป เพราะจะทำให้ความชื้นในทรงพุ่มสูง ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะต่อการเกิดโรค
  3. ใช้ ไตร-แท๊บ ผสมวัสดุเพาะกล้าอัตรา 1 กิโลกรัมต่อวัสดุปลูก 100-500 กิโลกรัม หรือใช้ ไตร- แท็บ อัตรา 1 กิโลกรัมผสมปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก 100-500 กิโลกรัม รองก้นหลุม หว่านโคนต้น อัตรา 50-100 กรัม/ต้น ใช้ฉีดพ่นลงดิน ไปกับระบบน้ำ อัตรา 100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7-10 วัน
  4. ใช้ เจน-แบค พ่นให้ทั่วลำต้นและทรงพุ่ม ก่อนการระบาด อัตรา100 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 10-15 วัน และเมื่อเริ่มพบการระบาด พ่นทุก 5-7 วัน เพื่อลดปริมาณของเชื้อในแปลงลง โดยในระยะนี้ควรให้น้ำน้อยลง
  5. การให้น้ำระบบน้ำพ่นฝอย ทำให้ใบเปียก ความชื้นในทรงพุ่มสูง เกิดสภาพเหมาะต่อการเกิดโรค ในระยะโรคระบาด ควรเปลี่ยนมาให้น้ำทางโคนต้นจะดีกว่า
  6. ในการเก็บรักษาผลผลิตระหว่างขนส่ง หรือรอจำหน่ายควรเก็บผลพริกไว้ในที่เย็นอุณหภูมิคงที่ จะช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวลงได้มาก

 

 

เรียบเรียงโดย

อธิษฐาน ชมเพ็ญ

 

อ้างอิง

            สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร. ปลูกพริกระวังโรคแอนแทรคโนส. กรมวิชาการเกษตร

ศศิธร วุฒวณิชย์. โรคแอนแทรคโนสของพริก. เกษตร โฟกัส. เกษตรอภิรมย์. มีนาคม-เมษายน 2561.    หน้า 27-29

17 มิถุนายน 2567

ผู้ชม 1456 ครั้ง

Engine by shopup.com