เพลี้ยแป้งในมะม่วง
เพลี้ยแป้งในมะม่วง
ในช่วงที่มะม่วงออกช่อติดผล ถ้าเจอกับปัญหาการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง ซึ่งสามารถเข้าทำลายได้ทุกช่วงการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ และยิ่งผลผลิตเพื่อส่งออกขายตลาดต่างประเทศ จะไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่เริ่มพบเพลี้ยแป้งจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
วงจรชีวิตเพลี้ยแป้งในมะม่วง
วงจรชีวิตเพลี้ยแป้งเพศเมีย ระยะตัวอ่อนของเพศเมีย วัยที่ 1 ช่วงอายุ 14-19 วัน วัยที่ 2 ช่วงอายุ 7-11 วัน วัยที่ 3 ช่วงอายุ 5-6 วัน รวมระยะในการเจริญเติบโตประมาณ 25-31 วัน
วงจรชีวิตเพลี้ยแป้งเพศผู้ วัยที่ 1 ช่วงอายุ 11-14 วัน วัยที่ 2 ช่วงอายุ 7-วัน วัยที่ 3 ช่วงอายุ 9-12 วัน รวมใช้เวลา 30-32 วัน
ไข่เพลี้ยแป้งมีไข่เป็นฟองเดี่ยว สีเหลืองอ่อน ยาวรี บรรจุอยู่ในถุงไข่ซึ่งมีเส้นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้ ตัวอ่อนเพลี้ยแป้งมีตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ตัวยาวรี ตัวอ่อนวัยแรก (Crawlers) เคลื่อนที่ได้ มีการลอกคราบ 3 – 4 ครั้ง
ตัวเต็มวัย เพศเมีย มีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบน บนหลังและด้านข้างมีขนปกคลุมมาก ชนิดวางไข่จะสร้างถุงไข่ไว้ใต้ท้อง มีลักษณะเป็นเส้นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนชนิดออกลูกเป็นตัวลำตัวป้อม กลมรี ส่วนหลังและด้านข้างมีแป้งเกาะ
เพศผู้มีปีก 1 คู่ ลักษณะคล้ายแตนหรือแมลงหวี่ ขนาดเล็กกว่าเพศเมีย การดำรงชีวิตดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช เพลี้ยแป้งมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ปกติทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย สามารถเคลื่อนไหวได้บ้าง แต่จากลักษณะการกินและการทำลายพืช จึงมักเห็นอยู่นิ่งไม่ค่อยเคลื่อนที่
ลักษณะการเข้าทำลาย
พบการระบาดทำความเสียหายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากบริเวณกิ่ง ช่อดอก ผลอ่อน และผลแก่ ของมะม่วง โดยมีมดเป็นตัวคาบพาเพลี้ยแป้งไปตามส่วนต่างๆ ของพืช ส่วนต่างๆของมะม่วงที่ถูกทำลายจะแคระแกร็น และชะงัก การเจริญเติบโต นอกจากนี้เพลี้ยแป้งจะขับน้ำหวาน (honey dew) ออกมาเป็นเหตุให้ราดำเข้าทำลายซ้ำ ถ้าเพลี้ยแป้งเข้าทำลายมะม่วงตั้งแต่ผลเล็กอาจจะมองไม่เห็น และมักพบหลังจากมีการห่อผลโดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ภายหลังแกะถุงห่อผลแล้วจึงจะพบเพลี้ยแป้งจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดราดำ ทำให้มะม่วงไม่มีคุณภาพจึงขายได้ราคาต่ำและไม่สามารถส่งออกได้
พืชที่เพลี้ยแป้งอยู่อาศัย
สำหรับเพลี้ยแป้งในสกุล Dysmicoccus นอกจากพบในมะม่วงแล้ว ยังพบระบาดในน้อยหน่า สับปะรด กล้วย มะพร้าว กาแฟ ฝ้าย ทานตะวัน หม่อน และพืชตระกูลส้ม
การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งในมะม่วง
- วิธีกล ถ้าเริ่มพบการระบาด หรือกิ่งที่ระบาดมากๆ ให้รีบตัดแต่งกิ่งไปเผาทำลาย
- การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้ง โดยใช้เชื้อราบูเวเรีย (บิว-เวอร์) มีวิธีการใช้ดังนี้
- อัตราการใช้ 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ
เบนดิกซ์ อัตรา 5-10 ซีซี
- เพิ่มความชื้นในแปลงให้มีความชื้นมากกว่า 60% ขึ้นไป
- ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นพืชทั้งบริเวณใต้ใบ บนใบและลำต้น
- ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีแดดจัด
- ควรฉีดพ่นให้ บิว-เวอร์ สัมผัสกับเพลี้ยแป้งโดยตรง
- ควรฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน และควรใช้อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3-5 ครั้ง
เรียบเรียงโดย : ปรางค์นัดดา ประกอบนา
เอกสารอ้างอิง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา. 2553. การป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2553. เอกสารวิชาการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 303 หน้า.
บุปผา เหล่าสินชัย และชลิดา อุณหวุฒิ. 2543. เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยศัตรูพืชที่สำคัญ. เอกสารวิชาการกลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. กรุงเทพฯ. 70 หน้า.
พิสุทธิ์ เอกอำนวย. 2563. โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). หน้า 605
22 เมษายน 2567
ผู้ชม 3054 ครั้ง