อาการไหม้ของพืชที่เกิดจากแสงแดด Sunburn

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

อาการไหม้ของพืชที่เกิดจากแสงแดด Sunburn

          ในช่วงนี้ที่อากาศร้อน แสงแดดจัด หลายคนน่าจะเจอปัญหาคล้ายๆกันว่า ทำไมต้นไม้ที่บ้านของเราเริ่มมีอาการใบซีดเหลือง เกิดเป็นแผลไหม้สีน้ำตาลที่บริเวณขอบใบ กลางใบหรือปลายใบ โดยเรียกอาการผิดปกตินี้ว่า แดดเผา หรือซันเบิร์น(Sunburn) โดยความผิดปกตินี้ไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรคหรือแมลงศัตรูเข้าทำลายแต่เกิดจากใบ ผล กิ่ง หรือลำต้น ถูกแสงแดดจัดมากเผาต่อเนื่องจนทำให้ผิวเซลล์ และเม็ดสีคลอโรฟิลล์ถูกเผาทำลายโดยเซลล์บริเวณที่ได้รับแสงแดดมากเกินไปเกิดอาการสูญเสียน้ำและถูกทำลายเกิดอาการไหม้

 

 

ซันเบิร์น (Sunburn) 

        อาการแดดเผา  หรือซันเบิร์น (Sunburn)  เป็นอาการผิดปกติที่เกิดได้กับส่วนบนของพืช มักเกิดแผลอาการไหม้แห้ง อาจเกิดได้บนกลางใบ ปลายใบ หรือขอบใบ และอาการที่เกิดบนผลเป็นแผลไหม้แห้งคล้ายกับอาการที่เกิดบนใบโดยอาการผิดปกตินี้อาจเกิดกับพืชได้หลายชนิดตั้งแต่เริ่มมีการควบคุมน้ำเพื่อชักนำการออกดอก ในสวนผลไม้หลายๆ แปลงปลูกอาจมีแดดจัดมากทำให้ใบคายน้ำมากและรากพืชอาจดูดน้ำเข้าไปสู่ลำต้นและใบไม่เพียงพอกับการคายน้ำ  จึงทำให้ใบไม่แข็งแรงพอที่จะความทนทานต่อแสงแดด โดยใบจะเริ่มมีอาการผิดปกติ เริ่มมีอาการใบเหลือง สีซีดลง ใบพืชบางชนิดอาจมีอาการคล้ายถูกน้ำร้อนลวกเป็นแต้มๆ ต่อมาจะกลายเป็นแผลไหม้

 

 

ลักษณะอาการ

          อาการที่พบมี 3 รูปแบบคือ

  1. อาการใบไหม้ที่ท้องใบ หรือกลางใบ มักเริ่มจากใบซีดเหลืองเป็นแต้ม หรือหย่อมคล้ายน้ำร้อนลวก แล้วเริ่มเกิดเป็นแผลไหม้สีน้ำตาลที่กลางใบ เกิดจากใบคายน้ำมาก ความสมบูรณ์ของเนื้อใบมีน้อยลงทำให้ความร้อนจากแสงแดด มาเข้าทำลายเกิดแผลที่เนื้อใบได้
  2. อาการไหม้ที่ขอบใบ เกิดจากการสูญเสียน้ำ ขาดความสมดุลในต้น น้ำที่คายออกมากกว่าน้ำที่ดูดเข้ามา ทำให้บริเวณปากใบเป็นแผล และอาจทำให้เชื้อราเข้าแทรกซ้อนทำลายซ้ำเติมได้ โดยสังเกตุอาการจากแผล ถ้าแผลมีการลุกลามเพิ่มมากขึ้นแสดงว่ามีเชื้อราเข้าทำลายร่วมด้วย
  3. อาการไหม้บริเวณปลายใบ เกิดจากการตกค้างที่ปลายใบของสารเคมีที่อาจใช้ในอัตราเข้มข้นมากเกินไป ร่วมกับการถูกแดดเผาในเวลาช่วงบ่าย โดยมักพบรุนแรงทางทิศตะวันตกที่แดดจัด

            และอาจมีสาเหตุอื่นร่วมที่ทำให้เกิดอาการได้ง่ายและรุนแรง คือ มีการให้น้ำหรือมีระบบน้ำที่ไม่เพียงพอ  หรือใบยังไม่แก่พอ เซลล์ผิวมีความแข็งแรงน้อย จึงทำให้ความต้านทานต่อแสงแดดมีน้อย

 

วิธีการแก้ไขและป้องกัน

  1. ย้ายต้นไม้มาวางด้านนอก ที่บริเวณแดดร่มรำไร อย่าให้โดนแสงโดยตรง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และตัดแต่งส่วนที่แสดงอาการผิดปกติออกไปเผาทำลาย
  2. ควรเปลี่ยนการปลูกใหม่ที่ระบายน้ำได้ดีขึ้น วางในตำแหน่งที่มีแสงแดดรำไร หรือรับแสงเล็กน้อยในช่วงเช้า อากาศถ่ายเท จนกว่าต้นจะแข็งแรง
  3. การพรางแสง การช่วยพรางแสงหรือลดความเข้มข้นของแสงให้ต้น หรือใบ หรือระบบราก  เช่น การใช้ตาข่ายพรางแสง (สแลนกรองแสง) หรือการคลุมด้วยเศษหญ้า ใบวัชพืชบริเวณปลายรากทรงพุ่ม จะช่วยเก็บรักษาความชื้น และการสูญเสียน้ำเนื่องจากถูกแดดเผาลงได้
  4. การตรวจเช็คระบบน้ำว่าการให้น้ำแก่ต้นพืช ให้รัศมีวงน้ำอยุ่ในบริเวณรากฝอย และครอบคลุมบริเวณปลายทรงพุ่ม โดยเว้นระยะเวลาให้น้ำถี่ขึ้น
  5. เสริมความแข็งแรงและภูมิต้านทานให้กับต้นพืช ด้วยการดูแลให้ต้นพืชได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นและพอต่อความต้องการ เช่นกลุ่มอะมิโนโปรตีน สำหรับสร้างเนื้อใบให้หนาทำให้แข็งแรง และกลุ่มแมกนีเซียม ซึ่งจะช่วยให้ใบเขียวเข้ม
  6. การใช้สารที่ช่วยป้องกันแสงแดดหรือความเข้มข้นของแสงแดด เช่น กลุ่มพาราฟินออย ไวท์ออยด์ ปิโตเลียมออยด์ โดยจะช่วยเคลือบผิวใบป้องกันความร้อนได้ สารในกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันเซลล์พืช และช่วยสะท้อนแสงยูวี ช่วยลดความเข้มข้นของแสง และป้องกันไม่ให้เซลล์พืชถูกทำลาย สามารถช่วยลดปัญหาอาการผลและใบที่เสียหายจากการถูกแดดเผาได้

 

เรียบเรียงโดย : อธิษฐาน ชมเพ็ญ        

อ้างอิง

            กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง

            https://www.thaikasetsart.com

            https://home.kapook.com

            https://myplantin.com

            https://www.missouribotanicalgarden.org

 

17 มิถุนายน 2567

ผู้ชม 3767 ครั้ง

Engine by shopup.com