โรคไวรัสระบาดในแปลงพริก
โรคไวรัสระบาดในแปลงพริก
โรคไวรัสระบาดในแปลงพริก
เกษตรกรผู้ปลูกพริกควรระวัง ช่วงอากาศร้อน แห้งแล้ง เหมาะสมแก่การระบาดของแมลงซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่พริก ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบแมลงหรืออาการใบหงิก ใบม้วน ในแปลงพริก ควรหาวิธีป้องกันกำจัดแมลงทันที หากปล่อยไว้จะทำให้ต้นพริกเกิดโรคไวรัส ซึ่งจะทำต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต จนถึงไม่สามารถเก็บผลผลิตได้
แมลงพาหะ ถ่ายทอดเชื้อไวรัสในพริก
1.เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนมีสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอดอ่อนพริก ซึ่งทำให้พริกมีอาการผิดปกติและเกิดโรคในพริกได้ นั่นคือโรคใบด่างประพริก และใบด่างพริกนั่นเอง
โรคใบด่างประพริก (Chilli veinal mottle virus)
สาเหตุ เชื้อไวรัส Chilli veinal mottle virus ( CVMV )
ลักษณะอาการ ต้นแคระแกร็น ใบอ่อนมีขีดหรือจุดประเขียวเข้มตามเส้นใบ ใบมีขนาดเล็ก บิดเบี้ยว
ต้นที่เป็นโรคติดฝักน้อย ฝักพริกเล็กกว่าปกติ อาการโรคเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงในขณะที่ต้นพริกยังเล็ก
โรคใบด่างพริก (Cucumber mosaic virus, CMV)
สาเหตุ เชื้อไวรัส Cucumber mosaic virus (CMV)
ลักษณะอาการ ต้นพริกเตี้ยแคระแกร็น ใบมีอาการด่างสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อน บิดเบี้ยว ผิดรูปร่างและลดขนาดเรียวเล็กลง อาจพบจุดแผลตายเฉพาะแห่งสีน้ำตาลบนใบ ดอกหลุดร่วงง่าย ผลมีผิวขรุขระ ขนาดเล็กลงและอาจพบอาการด่างบนผลพริก
2.แมลงหวี่ขาวยาสูบ
แมลงหวี่ขาวยาสูบ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ส่วนมากทางด้านใต้ใบ ตัวอ่อนวัยแรกมีสีเหลืองเคลื่อนที่ได้ดี แต่วัยถัดมาตัวจับติดอยู่ใต้ใบลักษณะกลมๆ เป็นแมลงพาหะนำเชื้อไวรัสมาสู่ต้นพริกได้อีกด้วย นั่นก็คือโรคใบหงิกเหลือง
โรคใบหงิกเหลือง Pepper yellow leaf curl virus
สาเหตุ เชื้อไวรัส Pepper yellow leaf curl virus (PYLCV)
ลักษณะอาการ พริกแสดงอาการใบเหลือง หรือใบเหลืองร่วมกับใบด่าง ใบม้วนหยัก ดอกร่วง ผลมีสีซีด ขนาดเล็กลงและหงิกงอ ลำต้นแคระแกร็น ทำความเสียหายต่อการปลูกพริกอย่างรุนแรงถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะกล้า โดยพริกแสดงอาการใบด่างหงิกเหลือง ต้นแคระแกร็น และผลผลิตลดลงถึง 80%
แนวทางการป้องกัน
1.ปลูกพริกพันธุ์ต้านทานโรค ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่เป็นโรค เนื่องจากไวรัสสามารถถ่ายทอดผ่านทาง เมล็ดพันธุ์ได้
2.กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ
3.หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของไวรัส เช่น แตงกวา มะเขือ ยาสูบ บวบ
4.สำรวจแปลงพริก อย่างสม่ำเสมอ หากพบแมลงให้รีบป้องกันกำจัดทันที การป้องกันโรคไวรัสในพริกยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่สามารถควบคุมการระบาดแมลงได้ โดยการป้องกันและกำจัดแมลงพาหะ เช่น ใช้เชื้อราบูเวเรีย หรือ เชื้อราเมตาไรเซียม อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน
เรียบเรียงโดย ทรงชัย ชมเหิม
อ้างอิง
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดหนองบัวลำภู ;
https://www.opsmoac.go.th/nongbualamphu-warning-preview-411291791338
กรมวิชาการเกษตร ; http://microorganism.expertdoa.com/disease
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ; https://www.opsmoac.go.th/yala-warning-files-402891791275
พิสุทธิ์ เอกอำนวย. (2563). โรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ. สายธุรกิจโรงพิมพ์
17 มิถุนายน 2567
ผู้ชม 4034 ครั้ง