ราน้ำค้างในโหระพา

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

          ช่วงที่มีหมอกลงในตอนเช้าแบบนี้ เกษตรกรมักพบ ‘‘โหระพา” มีอาการใบเหลืองเป็นหย่อมๆที่ใบล่าง และมีขุยสีเทาดำที่ใต้ใบ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าโรคราน้ำค้าง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospora sp. เชื้อราจะเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ส่วนมากทำลายที่ใบ ทำให้ใบเหลือง และแห้งเป็นสีน้ำตาล และหากเป็นในระยะกล้าหรือต้นเล็กจะแห้งตาย หากพบในช่วงระยะเก็บเกี่ยว ทำให้ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้

 

อาการ

  • ด้านบนใบจะพบสีเหลืองเป็นหย่อมๆ

มักเกิดที่ใบล่างก่อนและลามขึ้นไปยังใบบน

  • ใบเหลืองที่ถูกเข้าทำลายเนื้อเยื้อตายและจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแลดำ

เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบจะพบขุยสปอร์ของเชื้อสีเทาถึงดำ

 

 

การป้องกันและการจัดการ

  1. เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค คลุกเมล็ดหรือแช่ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  2. กำจัดวัชพืช และเว้นระยะการปลูกให้พอเหมาะ เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
  3. ลดความชื้นในแปลงโดยหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น เนื่องจากทำให้เกิดความชื้นสูงในเวลากลางคืนและมีสภาพเหมาะสมต่อการเกิดโรคได้
  4. หลังการเก็บเกี่ยว ให้ทำความสะอาดแปลง ทำลายเศษซากพืชที่หลงเหลือในแปลงเป็นการขจัดแหล่งระบาดของโรค
  5. หลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำที่ที่เคยมีการระบาด หรือการปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของโรคราน้ำค้าง
  6. การป้องกันกำจัดโดยชีววิธี ด้วยการใช้ชีวภัณฑ์เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราปฏิปักษ์ เช่น แบคทีเรียบาซิลลัส และเชื้อราไตรโคเดอร์มา ควรใช้เพื่อป้องกันก่อนพืชเริ่มแสดงอาการ ฉีดพ่นทุกๆ 5-7 วัน ถ้าพบอาการให้ฉีดพ่นทุก 3 วัน

 

 

อ้างอิง

สำนักงานเกษตรลำลูกกา  https://www.opsmoac.go.th

เกษตรทูเดย์  https://kaset.today

17 มิถุนายน 2567

ผู้ชม 8021 ครั้ง

Engine by shopup.com