เพลี้ยไฟกุหลาบ

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

 

เพลี้ยไฟกุหลาบ

 

          เมื่อใกล้เข้าสู่เดือนแห่งความรัก หลายคนก็คงนึกถึงกุหลาบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความโรแมนติกด้วยความที่กุหลาบมีรูปทรงสวย กลิ่นหอม หลายสีสัน เป็นเหตุให้ผู้คนนิยมปลูกกุหลาบเพื่อ  การค้า หรือปลูกเลี้ยงทั่วไป จนกระทั่งได้ฉายาว่าราชินีแห่งดอกไม้ แต่ในความสวยงามที่เห็นนั้นก็ยังคงต้องเฝ้าระวังภัยร้ายจาก "เพลี้ยไฟ" ศัตรูตัวสำคัญของไม้ดอกที่ผู้ปลูกควรระวัง

 

 

          เพลี้ยไฟ (Scirtothrips dorsalis Hood) และ (Thrips coloratus Schmutz) เป็นแมลงปากดูดตัวขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลดำ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว จะอาศัยอยู่ใน กลีบดอก และใต้ใบของกุหลาบ โดยจะกัดกินดูดน้ำเลี้ยงจากใบและยอดดอกอ่อนกุหลาบ ทำให้เกิดลักษณะ ใบหยิก ดอกซ้ำทำให้ดอกมีสีซีดเป็นทางสีขาวหรือน้ำตาลดำ ใบและยอดกุหลาบจะหงิกงอเป็นคลื่น บิดเบี้ยว เสียรูปทรง ดอกกุหลาบไม่บาน เมื่อระบาดหนักขึ้น ก็อาจจะทำให้เหี่ยว แห้ง และตายได้ในที่สุด

 

การแพร่ระบาด

          เพลี้ยไฟจะระบาดทำลายรุนแรงในช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม หรือบางพื้นที่การระบาดของเพลี้ยไฟอาจมีได้ตลอดปีแต่จะรุนแรงเป็นระยะ ๆ สังเกตอาการและหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

 

 

 

การป้องกันกำจัด

  1. วิธีเขตกรรม ควรปลูกพืชอื่นสลับแถว หรือปลูกพืชหมุนเวียนจะช่วยลดการระบาดได้
  2. วิธีกล โดยใช้วิธีการติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง แขวนหรือปักไว้ในแปลงปลูกเพื่อตรวจสอบดูว่า เริ่มมีการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟในแปลงพืชหรือยัง สามารถช่วยในการทำนายการระบาด นอกจากนี้กับดักยังใช้ในการศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ของเพลี้ยไฟด้วย
  3. การใช้ชีวภัณฑ์ฉีดพ่นบริเวณแหล่งอาศัยของตัวแมลง เช่น เชื้อราเมทาไรเซียม หรือเชื้อราบิวเวอร์เรีย
  4. ให้น้ำพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการพ่นน้ำเป็นละอองฝอยให้ชุ่มผิวพืชจะช่วยลดการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ
  5. ควรสังเกตอาการความผิดปกติและหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ดำเนินการป้องกันได้ทันท่วงที
  6. ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง ควรฉีดพ่นสารตามคำแนะนำของหน่วยราชการ

 

 

อ้างอิง

  1. ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.opsmoac.go.th
  2. กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
  3. พิสมัย  ชวลิตวงษ์พร ไทยเกษตรศาสตร์ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร  เพลี้ยไฟ:เพลี้ยไฟไม้ดอก October 17, 2011
  4. เพลี้ยไฟกุหลาบ (Thrips) | รักบ้านเกิด (rakbankerd.com)

24 กรกฎาคม 2567

ผู้ชม 4289 ครั้ง

Engine by shopup.com