การใช้ไตรโคเดอร์มาในการคลุกเมล็ดพืชผัก

หมวดหมู่: บทความชีวภัณฑ์

 

การใช้ไตรโคเดอร์มาในการคลุกเมล็ดพืชผัก

 

              เมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์ เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีการคัดเลือกเพื่อนำมาเพาะปลูก โดยโรคที่เป็นปัญหาส่วนมากมักเกิดจากเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง การปลูกซ้ำที่ การใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี เช่น ยูเรีย และแอมโมเนียมซัลเฟตเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการสะสมตัวของเชื้อโรคในดิน ซึ่งโรคที่เป็นปัญหา และอุปสรรคในการปลูกพืชผัก  หลายชนิด โดยหากมีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมากเกินความจำเป็นจะทำให้เซลล์ของลำต้นในระยะกล้าหรือต้นอ่อน ผิวบาง อวบ ง่ายต่อการเข้า  ทำลายของเชื้อรา Pythium sp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเน่าคอดิน       

 

 

 

โรคเน่าระดับดิน หรือโรคเน่าคอดิน (damping-off)

โรคเน่าระดับดิน หรือโรคเน่าคอดิน เกิดจากเชื้อรา Pyhium aphanidermatum เป็นโรคที่สามารถเข้าทำลายได้ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกมีผลทำให้เมล็ด หรือ ต้นกล้าไม่งอก รากต้นอ่อนถูกเข้าทำลายทันที ทำให้ไม่มีใบเลี้ยงออกมา เมื่อต้นกล้าที่เกิดโรคโผล่พ้นดิน บริเวณโคนต้นกล้าที่อยู่ระดับดินจะเกิดแผลจุดฉ่ำน้ำ แล้วขยายเป็นรอยช้ำสีน้ำตาล จากนั้นจะยุบตัวลง ทำให้ต้นล้มหักพับในขณะที่ยอดยังเขียวอยู่ ต่อมาจะเฉาและ    แห้งตาย โดยเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดิน สามารถดำรงชีวิตได้โดยปราศจาก   พืชอาศัย จะเข้าทำลายพืชได้ทั้งก่อนงอก (pre-emergence damping-off)  และหลังจากพืชเจริญโผล่พ้นดินแล้ว (post-emergence damping-off) และยังมีผลทำให้อัตราการงอกของเมล็ดลดลง กล้าไม่เจริญเติบโต และตายในที่สุด ดังนั้นการคลุกเมล็ดจึงเป็นวิธีการป้องกันการเข้าทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชที่สำคัญก่อนการปลูกพืช นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเจริญ เติบโตของพืช และลดกิจกรรมของเชื้อก่อโรคบริเวณรอบรากพืชได้อีกด้วย

 


 

การคลุกเมล็ดพันธุ์

             การคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราที่มีประโยชน์ต่อพืช  เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้สำหรับป้องกันโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ หรือเชื้อราในดินที่จะเข้าทำลายพืชตั้งแต่เริ่มเพาะปลูก ซึ่งมีคุณสมบัติในการควบคุมโรคพืชได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเชื้อราสาเหตุโรคพืชที่อยู่ในดินและบนเมล็ดพืช ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มอัตราการงอกของเมล็ด  โดยเชื้อราปฏิปักษ์จะสร้างเส้นใย และผลิตโคนิเดีย (Conidia) หรือสปอร์ เพื่อเข้าทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืช แย่งอาหารรวมถึงการปล่อยเอนไซม์หรือสารปฏิชีวนะเพื่อทำลายและกินเชื้อราเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันในการเกิดโรคพืชต่างๆ ได้ดี

 

 การทำงานของเชื้อราไตรโคเดอร์มาหลังคลุกเมล็ด 

  1. เข้าครอบครองพื้นที่รอบรากพืช เข้าสู่รากพืชได้อย่างรวดเร็ว สร้างส่วนขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก และสามารถทนทานต่อสารเคมีในดิน ทำให้สามารถเข้าทำลายเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ดี
  2. ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของราก โดยจะช่วยกระตุ้นทำให้รากมีการเจริญเติบโตและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น ช่วยส่งผลในการย่อยสลายและดูดซึมธาตุอาหาร
  3. ชักนำให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อราสาเหตุโรค
  4. เพิ่มการสังเคราะห์แสง ซึ่งช่วยกระตุ้นการดูดซับธาตุอาหารจากระบบรากไปจนถึงระบบลำเลี้ยงภายในต้นได้เพิ่มมากขึ้น
  5. เพิ่มผลและคุณภาพของผลผลิตของพืช เนื่องจากพืชเจริญเติบโตได้โดยไม่มีสิ่งรบกวนจึงส่งผลให้ผลผลิตที่ได้สูงขึ้นตามมา

 

 

 

 

วิธีการคลุกเมล็ด

                นำภาชนะสำหรับใส่เมล็ดพืช 1 กิโลกรัม จากนั้นผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดผง หรือเชื้อสด 10–20 กรัม เติมน้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย (ประมาณ 10 ซีซี) หรือสารจับติด (Sticker) เพื่อช่วยให้ผงเชื้อจับติดเมล็ดได้ดีขึ้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำเมล็ดที่คลุกเชื้อไปเพาะในพีทมอสหรือวัสดุเตรียมปลูกได้เลยทันที

 

 

คำแนะนำในการใช้ไตรโคเดอร์มา

  1. สภาพแวดล้อมต้องมีความชื้นเหมาะสม อยู่ที่ประมาณ 60% ขึ้นไป
  2. ควรใช้ในช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงช่วงกลางวันเนื่องจากมีอากาศร้อน แสงแดดจัด อาจทำให้เชื้อตาย และประสิทธิภาพลดลง
  3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในช่วง 7 วันก่อน หรือหลังการหว่านเชื้อที่ผสมแล้วลงดิน
  4. ควรมีการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ
  5. pH ของดินควรอยู่ในช่วง 5.5 - 6.5 จึงเหมาะสม

ประโยชน์การคลุกเมล็ด

      1. ช่วยลดโรคระบาดหลังการเก็บเกี่ยว ป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด

  1. สามารถเข้าครอบครองรอบรากพืชได้รวดเร็ว เมื่อเมล็ดงอกจึงสามารถช่วยเสริมสร้างให้พืชเจริญเติบโตและ ช่วยให้มีเปอร์เซ็นต์การงอกของต้นกล้าเพิ่มขึ้น
  2. เพิ่มความหนาแน่นราก ส่งเสริมการเจริญเติบโตของราก เพิ่มจำนวนราก ทำให้รากหาอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้มากขึ้น จึงทำให้พืชมีการเจริญเติบโตดีแข็งแรงสมบูรณ์
  3. ส่งเสริมด้านการดูดซับธาตุอาหาร ทำให้การใช้ปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยย่อยสลายให้ปุ๋ยอยู่ในรูปพืชนำไปใช้ได้ และลดการสูญเสียธาตุอาหารไปตามธรรมชาติ
  4. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืช ชักนำให้พืชเกิดความต้านทานโรคขึ้นภายในต้นและลดกิจกรรมของเชื้อก่อโรคบริเวณรอบรากพืช เมื่อพืชมีระบบรากดีเจริญเติบโตดี แข็งแรง จึงต้านทานโรคได้ดีขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือ ชื่อเรื่อง ไตรโคเดอร์มา : เชื้อราปฏิปักษ์ควบคุมโรคพืช Trichoderma : antagonistic fungus for plant disease control / จิระเดช แจ่มสว่าง.
  2. กรมวิชาการเกษตร
  3. https://www.greennet.or.th
  4. https://home.kku.ac.th/
  5. https://www.saranukromthai.or.th
  6. หน่วยวิจัยโรคพืช และศาสตร์สัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัย และโรงเรือนปลูกทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน/ นวลวรรณ ฟ้ารุ่งสาง และญาณี มั่นอ้น DAN EGEL.
  7. Damping-off of Vegetables.
  8. Vegetable Crops Hotline A newsletter for commercial Vegetable growers prepared by the Purdue University Cooperative Extension Service.APRIL 8, 2020 - INCLUDED IN ISSUE: 671.
  9. P. Keinath, W. M. Wintermantel, and T. A. Zitter. Pythium damping off and root-rot. In book: Compendium of Cucurbit Diseases and Pests (pp.48-50)Edition: 2ndChapter: Pythium damping off and root-rotPublisher: American Phytopathological SocietyEditors: July         2017

24 กรกฎาคม 2567

ผู้ชม 1893 ครั้ง

Engine by shopup.com